กทพ. กางแผน 10 ปีสร้างทางด่วน 11 สายทาง วางเป้าปี 71 เพิ่มรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์โต 100%

ผู้ชมทั้งหมด 69 

กทพ. กางแผน 10 ปีลุยลงทุนทางด่วน 11 สายทาง วางเป้าหมายปี 71 เพิ่มสัดส่วนรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์เป็น 600 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มด่านอีซี่พาสเป็น 70% ลดด่านเงินสดเหลือ 30% ในปี 69 วางพร้อมมุ่งสู่เป้าเป็นองค์กร Net Zero ปี 2050

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังงานครบรอบ 52 ปีในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ว่า กทพ.ในระยะเวลา 10 ปี (2568-2577) มีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ 11 สายทาง ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 รวมทั้งการทางพิเศษฯ ยังมีโครงการสำคัญในเขตเมืองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการทางยกระระดับชั้นที่ 2 (ช่วงงามวงศ์วาน -พระราม 9)

การลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และยังมีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงกะทู้- ป่าตอง) และ ระยะที่ 2 (ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้) รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด

นอกจากนี้ภายใน 4 ปีข้างหน้า (2568 – 2571) กทพ. วางเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็น 600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% จากปี 2567 มีรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์กว่า 300 ล้านบาท โดยปัจจุบันกทพ. มีพื้นที่ 2 ล้านตารางวา ซึ่งมีที่ดินเปล่าสามารถทำประโยชน์ได้ประมาณ 400,000-800,000 ตารางวา ทั้งพื้นที่ใต้ทางด่วน และพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จะสามารถพัฒนาในรูปแบบโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) ได้

สำหรับโครงการ Rest Area คาดว่าจะเริ่มดำเนินการลงทุนได้ในปี 2568 ในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง พื้นที่ 58 ไร่ วงเงินลงทุน 2,324 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 627 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 1,697 ล้านบาท ในขณะนี้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

พร้อมกันนี้ในอีก 2 ปีข้างหน้า (2568-2569) กทพ.ยังได้วางเป้าหมายเพิ่มระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนในรูปแบบอีซี่พาส (Easy Pass) เป็น 70% ลดระบบเก็บค่าผ่านทางที่เป็นเงินสดลงเหลือ 30% จากปัจจุบันสัดส่วน 50-50 เพื่อลดปัญหาการจราจรติดหน้าด่าน ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการใช้ทางด่วน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า นอกจากภารกิจหลักในการสร้างทางพิเศษแล้ว กทพ. ยังให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยได้สนับสนุนทุนการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 1,247 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 7,730,000 บาท อีกทั้ง มีส่วนร่วมในการส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาด้านกีฬาให้เกิดความยั่งยืนโดยได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬายิงเป้าบิน และสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทย

พร้อมกันนี้กทพ. ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษไปแล้วกว่า 780 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 3.7 ล้านบาทต่อปีลดคาร์บอนไดออกไซด์ 412.87 tonCo2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์) ต่อปีหรือเทียบเท่าการปลูกต้นสัก 469,173 ต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 4,692 ไร่ และยังได้รับการรับรองโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริการการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปลี่ยนหลอดไฟภายในอาคารสำนักงานเป็นชนิดประหยัดพลังงาน (LED) พื้นที่ปฏิบัติงาน และอาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 12.146 tonCo2 ต่อปี และยังร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทยในการเลือกใช้ปูนไฮดรอลิก

ในการก่อสร้างทางพิเศษ ตลอดจนจัดโครงการ EXAT POWER GREEN ภายใต้ชื่อกิจกรรม “EXAT รักษ์โลก” โดยเชิญชวนประชาชนผู้ใช้บริการทางพิเศษ เข้ากิจกรรมฯ ร่วมสร้างพื้นที่ สีเขียวด้วยการร่วมปลูกต้นไม้และร่วมเรียนรู้การอนุรักษ์ธรรมชาติลดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก อีกด้วย

นอกจากนี้กทพ.จะมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในการให้บริการ โดยนำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ในเมืองและนอกเมือง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานการเดินทาง สร้างความสุขให้กับคนไทย ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 53 ด้วยคำจำกัดความว่า พัฒนาเส้นทาง สร้างแรงบันดาลใจ ก้าวไปสู่ Net Zero Society โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2050

นายสุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 52 ปี กทพ. มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายขยายเส้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยปัจจุบัน กทพ.ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษประจิมรัถยา และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568