ผู้ชมทั้งหมด 96
AOT ทุ่มงบ 1.96 แสนล้านขยายขีดความสามารถสนามบิน รองรับผู้โดยสาร คาดช่วงปีใหม่ 68 มีผู้โดยสารเดินทาง2.86 ล้านคน
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท .(AOT ) เปิดเผยว่า AOT ได้วางแผนการลงทุนในระยะ 10 ปี วงเงินลงทุนประมาณ 1.96 แสนล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนี้
1.โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) มูลค่าลงทุน 1 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลต้นปี68
2.โครงการพัฒนาอาคารรับรองผู้โดยสาร 3 (Terminal 3) พร้อมการปรับปรุงพื้นที่ภายในทั้งหมดของท่าอากาศยานดอนเมือง(ทดม.) มูลค่า ลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลปลายปี68
3.โครงการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่(ทชม.) ระยะที่ 2 มูลค่าลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลปลายปี68
4.โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ระยะที่ 2 มูลค่าลงทุน 1 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลกลางปี69
5.โครงการพัฒนาทสภ.ด้านทิศใต้ (South Terminal) และ ทางวิ่ง(รันเวย์)เส้นที่4 มูลค่าลงทุน 1.4แสนล้านบาทคาดเปิดประมูล ปลายปี 70
ทั้งนี้แหล่งรายได้ที่จะนำมาลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดที่มาจากรายได้ของ AOT ทั้งหมด และอาจต้องกู้ชดเชยกระแสเงินสดบ้างในช่วงการลงทุน ทสภ.ด้านทิศใต้ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
นายกีรติ กล่าวถึงรายงานผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 ว่า ในรอบ 12 เดือนระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต(ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) AOT มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 19,182.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,391.52 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 118.21 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
โดยมีรายได้รวม 67,827.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.01 ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น18,980.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.43 แบ่งเป็น รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินมีจํานวน 31,000.47 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8,734.64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.23 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจํานวน 36,120.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,245.74 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.60 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 40,524.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,276.70 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.33 ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้รวมทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเทียบกับรายได้จากการดำเนินงานลดลงจากร้อยละ70.08 ในปีก่อนเป็นร้อยละ 59.71 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของ AOT
สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.82 และผู้โดยสารภายในประเทศ46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนปริมาณการเดินทาง ของผู้โดยสารระหว่างประเทศ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีเทรนด์ที่จะเติบโตต่อไปได้อีก ซึ่ง ส่วนหนึ่งนั้นจะมาจากผู้โดยสารชาวจีนที่น่าจะเป็นตลาดหลักที่ยังเติบโตได้อีก โดยปัจจุบันผู้โดยสารจีนอยู่ที่ 76% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 คาดการณ์ว่าในปี 68 น่าจะไปแตะที่90% และอีกส่วนมาจากอินเดีย ไต้หวัน รัสเซีย ยุโรปตะวันออก สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.63 และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 0.73
อย่างไรก็ตาม AOT ได้ประมาณการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 129.97 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 78.61 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17 และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18 ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.32 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.02 และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.02
จากประมาณการณ์การจราจรทางอากาศของปีงบประมาณ 2568 จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้โดยสารฟื้นตัวใกล้เคียงกับปริมาณผู้โดยสารช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 AOT คาดว่าระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2567 – 4 มกราคม 2568 จะมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่ง ประมาณ 2.86 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 92.9 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (29 ธันวาคม 2562 – 4 มกราคม 2563) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 1.83 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 95.3 และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 1.03 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 88.8 ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 17,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 97.5 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (29 ธันวาคม 2562 – 4 มกราคม2563) แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 10,370 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 102 หรือฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 7,040 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 91.6
ทั้งนี้ AOT มีความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านท่าอากาศยานอย่างเต็มที่ ด้วยการบริการที่สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition สำหรับระบุตัวตนของผู้โดยสารจะมีความพร้อมสมบูรณ์ในการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้โดยสารทุกท่าน ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ โดยผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลก่อน ซึ่งระบบ Biometric จะทำให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้รับความสะดวกสบาย และรวดเร็ว ตั้งแต่ขั้นตอนการโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป (ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูลBiometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น)
“AOT ยืนยันว่ามีศักยภาพและขีดความสามารถ ในการรองรับผู้โดยสารและการสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำผลกำไรและสร้างรายได้ให้กับรัฐ “นายกีรติ กล่าว
สำหรับสัดส่วนรายได้ของAOT ระหว่างกิจการการบิน (Aero) และรายได้ที่ไม่ใช่จากกิจการการบิน (Non-Aero) อยู่ที่ 46:54 ขณะที่ที่ปี68 เชื่อว่า รายได้จากAero ยังคงเติบโตเพราะมีเทรนด์ของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยรายได้Aero หลักมาจาก ค่าบริการผู้โดยสารขาออก พี่เพิ่มขึ้น 38% คิดเป็นเงินประมาณ 24,600 ล้านบาท ขณะที่ค่าบริการ Parking Landing เพิ่มขึ้น 50%
นายกีรติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการประมูลผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 และผู้ให้บริการคลังสินค้า ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมูลภาคพื้นรายที่3 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเตรียมการเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 20 ธ.ค.นี้คาดว่าสามารถเปิดประมูล ได้ในเดือน ม.ค.68 และน่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลเดือน มี.ค.68