กทท. เดินหน้าติดตั้ง Solar Rooftop มุ่งสู่การเป็นท่าเรือสีเขียว  

ผู้ชมทั้งหมด 57 

มนพร” หนุน กทท. ใช้พลังงานสะอาด ก้าวเป็นท่าเรือสีเขียว เดินหน้าติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาโรงพักสินค้า ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 5 ล้านกิโลวัตต์ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าในยุคที่ทั่วโลกตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Logistics) เพื่อร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามแนวคิด ESG สำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Rooftop ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อย CO2 และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยยกระดับให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นท่าเรือสีเขียวชั้นนำอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) นำไปสู่อนาคตแห่งความยั่งยืนร่วมกัน

ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท.มีแผนพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควบคุมมลพิษอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐ หนึ่งในโครงการสำคัญ คือการติดตั้ง Solar Rooftop ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดประมาณ 3.798 MWp เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในหน่วยงานลดการรับซื้อไฟฟ้าซึ่งเป็นการติดตั้งด้วยระบบโซล่าเซลล์แบบออนกริด (On Grid) คือ ใช้ได้ทั้งไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซล่าเซลล์ และไฟฟ้าที่รับมาจากการไฟฟ้านครหลวง

โดยในปัจจุบันติดตั้งใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณอาคารที่จอดรถของสำนักงาน และหลังคาอาคารโรงพักสินค้า อีกทั้งในอนาคตการท่าเรือฯ มีแผนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มเติม ณ อาคาร PAT Arena การท่าเรือฯ บนพื้นที่ 3,020 ตารางเมตร ขนาดกำลังการผลิต 622.08 kWp คาดการณ์ความสามารถการผลิตไฟฟ้ารวมในอนาคตของทั้งหน่วยงานได้ประมาณ 5,035,765 กิโลวัตต์/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่า 2,574 ตัน/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 55,341 ต้น นับเป็นการตอบโจทย์และช่วยส่งเสริมเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมตามหลัก ESG ได้อย่างมีนัยสำคัญอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาท่าเรือเพื่อก้าวสู่การเป็น Carbon Neutral Port ภายในปี 2050 ด้วยนโยบาย 2D ประกอบด้วย Decarbonization การสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสะอาดพร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในท่าเรือและพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างท่าเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Digitalization การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงาน รวมถึงการบริหารจัดการท่าเรือด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะใช้เครื่องมือทุ่นแรงพลังงานไฟฟ้าที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

ทั้งนี้กทท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการขนส่งทางน้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ พร้อมพัฒนาการดำเนินงานเพื่อเป็นท่าเรือสมรรถนะสูงควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อก้าวสู่ท่าเรือสีเขียวชั้นนำในระดับสากล