ผู้ชมทั้งหมด 604
“ก๊าซธรรมชาติเหลว” หรือLNG กำลังกลายเป็นพลังงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากการใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม(ฟอสซิล) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด อย่างพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงเวลาที่โลกกำลังรอให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นต้องใช้ LNG เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงหลักคู่ขนานไปกับการใช้พลังงานทางเลือกอื่น
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ พร้อมให้สนับสนุนการจัดหา LNG เพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า
นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ก๊าซฯ ยังมีความสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน ก็มีข้อดีของการที่พลังงานหมุนเวียนยังเติบโตไม่เต็มที่ ก๊าซฯก็จะเข้ามาเสริม และหากพิจารณาจากข้อมูลประมาณการต่างๆของโลก พบว่า การผลิตก๊าซ LNG ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 480 ล้านตันต่อปี และคาดว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีการผลิตก๊าซ LNG เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเห็นว่าซัพพลายยังมีการเติบโต ราคาก็จะมั่นคง แต่ก็อาจมีผันผวนในบางช่วงเวลาตามฤดูกาลได้ แต่ที่สุดแล้ว ก๊าซฯแม้ว่าจะจัดเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่จะช่วยเสริมการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน และเมื่อเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ราคาก็จะสมเหตุสมผลมากขึ้น ทำให้ในช่วงปลายแผนการใช้พลังงานของทุกประเทศจะเห็นการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
สอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย ที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตมากขึ้นช่วงปลายแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) แต่ที่มีประเด็นว่า สัดส่วนการใช้ก๊าซฯในปลายแผนPDP จะลดลงนั้น มองว่า ปริมาณการใช้ก๊าซฯในภาพรวมไม่ได้ลดลงไปจากเดิมมากนัก ซึ่งเข้าใจว่าจะอยู่ในระดับทรงๆจากปัจจุบัน แต่การเติบโตส่วนใหญ่จะไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก
ดังนั้น ในอนาคตกำลังการผลิตก๊าซฯ และ LNG จะมีการผลิตออกมามากขึ้นในช่วง 10 ปีนี้ จึงยังเชื่อได้ว่าจะมีซัพพลายออกมา แต่หลังจาก 10 ปีไปแล้วก็ต้องไปดูว่าจะมีแหล่งผลิตใหม่ๆออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ ฉะนั้นหากสามารถหาแหล่งก๊าซฯในประเทศเพื่อนบ้านได้ และมีก๊าซฯจากแนวท่อก๊าซฯเข้ามาเพิ่มได้ ก็จะมีความมั่นคงมากขึ้น ราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะอยู่ใกล้ ต้นทุนต่างๆก็จะลดลงได้ และที่สำคัญที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการทยอยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อรองรับ ทั้ง ท่อส่งก๊าซฯ และสถานีรับ-จ่ายก๊าซฯ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความพร้อมในเรื่องนี้
ส่วนประเด็นที่รัฐบาลไทยและกัมพูชา จะมีการเจรจาหาข้อยุติในเขตไหล่ทวีปในทะเลที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2544 นั้น ปตท. มองว่า ในทุกแผนพลังงานยังให้ความสำคัญกับการใช้ก๊าซฯ ฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะแค่พื้นที่OCA แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ได้ในภูมิภาคนี้ที่มีก๊าซฯ ถ้ามีโอกาสนำเข้ามาได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนในขณะเดียวกันยังช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานด้วย
แต่ที่อยากจะเน้นคือ การมีแหล่งก๊าซฯอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้กับประเทศไทย ก็มีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานทางธรณีวิทยาที่ใกล้เคียงกัน และไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ อีกทั้งไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการจัดส่งก๊าซฯไว้แล้ว ขณะที่รูปแบบความร่วมมือของการพัฒนาแหล่งก๊าซฯก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่อส่งก๊าซฯใหม่เข้ามา หรือ จ้างผลิตฯ ก็ทำได้หมดและก็เป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดต้นทุนต่ำสุด
“แต่สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ เวลาดูเรื่องพลังงานพวกนี้ ไม่สามารถรู้ว่า อนาคตจะได้แหล่งพลังงานธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งเราควรมีทางเลือก หรือ มีแผนสำรองเตรียมไว้ วันนี้ถ้ายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ก็ต้องใช้ LNG ฉะนั้นอย่ามองว่า LNG ไม่ดี ทำให้แพง เพราะวันที่ LNG ราคาถูก เราก็ชอบ ฉะนั้นถ้าได้แหล่งก๊าซฯจากประเทศเพื่อนบ้านมา ก็เป็นสิ่งที่ดีและเป็นโอกาสความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ และประเด็นต่อมา ของพวกนี้มันอยู่ใต้ดิน ก็เห็นอยู่แล้วว่า พลังงานหมุนเวียนถึงจุดหนึ่งจะถูกลงแน่ ของที่อยู่ใต้ดินถ้าไม่เอาขึ้นมาใช้ก็ไม่มีมูลค่า แต่ถ้าเอาขึ้นมาใช้วันนี้มันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งก็ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ”
สำหรับโมเดลที่จะใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วมนั้น ก็มีโมเดลจากพื้นที่อื่นๆที่น่าจะนำมาดำเนินการได้ เช่น พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) ซึ่งปริมาณสำรองก๊าซฯในพื้นที่เหล่านี้ ยิ่งพัฒนายิ่งเป็นประโยชน์ และที่มีการประมาณการว่า จะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA จะอยู่ที่ราว 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น หากยึดตามโมเดลพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) หรืออยู่ภายใต้สมมติฐาน แบ่งปันผลประโยชน์กันสัดส่วน 50:50 ก็คาดว่า ไทยจะมีก๊าซฯ เพิ่มขึ้นราว 750-800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และถ้าพิจารณาจากความต้องการใช้ก๊าซฯ ของไทย ปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 4,500 -4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็สามารถทดแทนการจัดหาก๊าซฯ ได้ 10-15% ฉะนั้นจากที่ไทย จะต้องจัดหา LNG ในสัดส่วน 30% ก็จะลดลงเหลือราว 15% ที่เหลือก็จะเป็นก๊าซฯจากแหล่งในประเทศราว 50% ก็มีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยได้
อีกทั้ง การพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ในพื้นที่ OCA ไม่จำเป็นต้องเริ่มนำหนึ่งใหม่ เพราะว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ดำเนินการสำรวจก๊าซฯในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งก๊าซฯOCA อยู่แล้ว ซึ่ง ปตท.สผ.รู้จักพื้นที่ดีพอสมควร ก็ไม่ต้องไปเริ่มจากศูนย์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้แม้จะยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพดำเนินการ แต่ก็อยากให้ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพราะจะเป็นประโยชน์ระหว่าง 2 ประเทศ
ทั้งนี้ การเตรียมแผนสำรองและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ประเทศไทยมีทางเลือกด้านพลังงานที่ยืดหยุ่นและมั่นคง พร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต