ผู้ชมทั้งหมด 676
สำหรับระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่ 3 ระบบ คือ 1.รถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy rail) ซึ่งเปิดให้บริการอยู่หลายเส้นทาง หลายสี ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 2.รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง หรือ โมโนเรล (Straddle Monorail) 3.รถไฟฟ้าระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ซึ่งระบบ APM นั้นใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง
อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ ระบบ Monorail กับ ระบบ AMP นั้นเป็นระบบใหม่ที่ใช้ในประเทศไทย และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดทริปพาผู้สื่อข่าวไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตขบวนรถไฟฟ้าระบบ Monorail และระบบ APM ของบริษัท CRRC Puzhen Alstom Transporttion Systems Co.,Ltd. (PATS) ณ เมืองอู๋หู มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายการผลิตของ Alstom
บริษัท PATS เป็นการร่วมทุนกันระหว่าง CRRC Nanjing Puzhen Vehicle Co., Ltd. และ Alstom ในสัดส่วน 50-50% ก่อตั้งปี ค.ศ. 2014 ด้วยทุนจดทะเบียน 250 ล้านหยวน ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองอู๋หู ทีมผู้บริหารของ PATS ระบุว่า ขบวนรถไฟฟ้าที่บริษัท PATS ผลิตจะเป็นระบบขนส่งแบบล้อยางในระดับความจุปานกลาง-ต่ำ เช่น ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคล่อมราง (Straddle monorail) ระบบ APM และระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติความจุต่ำ (Rubber-tyre Rapid Transit : RRT) นอกจากนี้ PATS ยังให้บริการด้านอื่นสำหรับลูกค้า เช่น การวางแผนและการออกแบบ การก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา การจัดหาระบบไฟฟ้า-เครื่องกล (M&E1) การจัดหาเงินทุน การผลิต การติดตั้งการให้บริการเดินรถและการบำรุงรักษา
หลายประเทศใช้รถไฟฟ้าโมโนเรล
ทีมผู้บริหารของ PATS กล่าวว่า ลูกค้าที่สั่งผลิตขบวนรถไฟฟ้าระบบ Monorail และระบบ APM ส่วนใหญ่ 90% จะเป็นลูกค้าในจีน สัดส่วน 10% ส่งออกต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง บราซิล มาเลเซีย เม็กซิโก อิยิปต์ สิงคโปร์ ไทย เป็นต้น โดยขบวนรถไฟฟ้าที่ส่งไปยั่งประเทศไทย คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพู เป็นระบบ Monorail และรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นระบบ APM โดยกำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตขบวนรถไฟฟ้าระบบ Monorail ได้ 300 ตู้ต่อปี ระบบ APM 100 ตู้ต่อปี อย่างไรก็ตามล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการผลิตขบวนรถไฟฟ้าระบบ Monorail ให้กับโครงการระบบขนส่งมวลชนเซาเปาโล ประเทศบราซิล
พัฒนาชุดล้อประคอง อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิป้องกันล้อหลุด
ส่วนในกรณีรถไฟฟ้าระบบ Monorail สายสีเหลืองในประเทศไทยเกิดเหตุล้อประคองหลุดนั้น ทีมผู้บริหารของ PATS กล่าวว่า ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีชุดล้อประคองขึ้นมาใหม่มีตัวล็อคถึง 6 จุด พร้อมด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิล้อประคอง เพื่อป้องกันการหลุดของล้อประคอง ซึ่งชุดล้อประคอง และอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิก็จะติดตั้งให้กับขบวนรถไฟฟ้าระบบ Monorail รุ่นใหม่ด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารถไฟฟ้าระบบ Monorail ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ล้อหลุดมากก่อนยกเว้นที่ประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้ PATS ได้ส่งชุดล้อประคองที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิให้ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ในฐานะเจ้าของสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง ทยอยเปลี่ยนล้อประคอง และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิที่ล้อประคองแล้ว เพื่อทดสอบชุดล้อประคอง
สายสีเหลือง-ชมพูเร่งเปลี่ยนชุดล้อประคองใหม่
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. กล่าวว่า ประเด็นเรื่องล้อประคองนั้น รฟม.ได้ติดตามและเร่งให้ BTS ผู้ได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือ สายสีชมพู แก้ปัญหาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยปัจจุบัน BTS มีการเปลี่ยนชุดล้อประคองใหม่ อุปกรณ์ป้องกันล้อหลุด และเพิ่มอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิที่ล้อ เพื่อตรวจจับความผิดปกติในล้อประคองทุกล้อ โดยเซ็นเซอร์จะทำการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมเมื่ออุณหภูมิล้อสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำขบวนรถกลับไปตรวจสอบ แม้ว่าล้อจะสามารถรองรับความร้อนได้สูงถึง 80 องศาเซลเซียสก็ตาม
อย่างไรก็ตามในขณะนี้ BTS อยู่ระหว่างทดสอบกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ถึงประมาณกลางเดือนมกราคม 2568 และคาดว่าจะสามารถเริ่มเปลี่ยนชุดล้อประคอง พร้อมอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิล้อได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะเปลี่ยนชุดล้อประคองใหม่หมดทั้งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือ และสายสีชมพู ทั้ง 2 สายรวม 72 ขบวน โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 8-9 เดือน หรือแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2568 ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนชุดล้อประคองใหม่จะไม่เกิดปัญหาล้อหลุดอีก เพราะมีการล็อคอย่างแน่นหนามีตัวล็อคถึง 6 จุด นอกจากนี้ทาง BTS ยังมีการทำตาราง Maintenance ของวัสดุอุปกรณ์ เพื่อตรวจสอบเป็นประจำ และจะมีการตรวจสอบล้อของทุกขบวนเป็นประจำก่อนให้บริการ โดยปัจจุบันมีการตรวจสอบทุกวัน