ผู้ชมทั้งหมด 841
ปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดที่โลกกำลังเผชิญ การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) ในชั้นบรรยากาศเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การทำลายป่า และการจัดการของเสียที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) มีเทน (CH₄) และไนตรัสออกไซด์ (N₂O) ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกหลัก
“การลดก๊าซเรือนกระจก” จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการสนับสนุนโครงการที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะ และการสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว เช่น ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ
การมีส่วนร่วมของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการลดก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนในวงกว้างได้ การดำเนินโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกจะช่วยลดการปล่อยก๊าซที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และยังเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
ด้วยบริบทนี้ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ได้แสดงบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางความรู้และนวัตกรรมในการจัดการขยะและการลดก๊าซเรือนกระจกผ่าน “โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
โดย ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีฯ ได้รับประกาศเกียรติคุณจาก โครงการ LESS ซึ่งดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากโครงการด้านการจัดการของเสีย จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่
การขยายผลองค์ความรู้การใช้ชุดอุปกรณ์ย่อยสลายขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ (Biodegradation Bin) ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากการคิดค้นและพัฒนาโดยศูนย์ฯ สิรินาถราชินี และการคัดแยกขยะรีไซเคิล ภายในร้านอาหารชิกเก้น แอนด์ บี (Chicken and Bee) ซึ่งเป็นร้านอาหารเครือข่ายชุมชนโดยรอบ ช่วงการประเมินระหว่าง 1 มกราคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2566
สำหรับ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีให้การสนับสนุนร้านชิกเก้น แอนด์ บี ตั้งอยู่ ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยโครงการนี้ ได้มอบอุปกรณ์ย่อยสลายขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ (BiodegradationBin: BB) จำนวน 9 ชุด ตั้งแต่ปี 2566 มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก ดังนี้
1. การผลิตปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์โดยการรวบรวมเศษอาหารขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นภายในร้าน รวมถึงกิ่งไม้ ใบไม้ที่ร่วงหล่นภายในร้าน ใส่ถัง BB ตามคำแนะของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีซึ่งปุ๋ยที่ได้ทางร้านนำไปใช้สำหรับบำรุงผักอินทรีย์ โดยมีน้ำหนักของขยะอินทรีย์ตลอดระยะเวลาที่ขอการรับรอง จำนวน 7,730 กิโลกรัม
2. กิจกรรมการคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี มีการจัดตั้งถังขยะรีไซเคิล เพื่อแยกประเภทขยะ โดยมอบหมายให้พนักงานเป็นผู้รวบรวม และจดบันทึกน้ำหนักขยะ เป็นประจำทุกเดือน ก่อนจำหน่ายขยะรีไซเคิลให้ร้านที่รับซื้อขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะประเภท แก้ว กระดาษ และพลาสติก ตลอดระยะเวลาที่ขอการรับรองสามารถรวบรวมปริมาณขยะรีไซเคิลได้ 1,083 กิโลกรัม
ผลลัพธ์และความสำเร็จ จากทั้งสองกิจกรรมข้างต้น ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 6.878 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดช่วงระยะเวลาการประเมิน ส่งผลให้ศูนย์ฯ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากโครงการ LESS และถือเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายองค์ความรู้จากศูนย์เรียนรู้ ปตท. ไปยังชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การได้รับประกาศเกียรติคุณจากโครงการ LESS ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำความรู้ด้านนิเวศและสิ่งแวดล้อมไปใช้ในการแก้ไขปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมและขับเคลื่อนการลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป