ผู้ชมทั้งหมด 199
“สุรพงษ์” สั่งการ ขบ.ไล่เช็คลิสต์สภาพรถโดยสาร กว่า 13,000 คัน เร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทุกมิติ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานประชุมหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรณีอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ และนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหาร ขบ. เข้าร่วม
นายสุรพงษ์ ระบุว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 12.08 น. ได้เกิดเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี (รถโดยสารชั้นเดียว ปรับอากาศ) บรรทุกเด็กนักเรียนและครูจำนวน 45 ราย เดินทางออกจากจังหวัดอุทัยธานี เมื่อถึงจุดเกิดเหตุบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าเซียร์รังสิต รถคันดังกล่าวได้เกิดเสียหลักไปเฉี่ยวชนกับรถเก๋ง และไถลเบียดกับแบริเออร์ที่อยู่กลางเกาะถนนวิภาวดี จากนั้นจึงเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเสียหายทั้งคัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 3 ราย นั้น รถโดยสารคันที่เกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียวมาตรฐาน 1 (ข) ปรับอากาศ โดยล่าสุดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ยกเลิกการประกอบการของผู้ประกอบการรถคันที่เกิดเหตุทั้งหมดแล้ว
ขณะเดียวกันได้มีข้อสั่งการให้ ขบ.เร่งดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วน ดังนี้
1. ให้ ขบ. เรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ทั้งหมดจำนวน 13,426 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 10,491 คัน และรถโดยสารไม่ประจำทาง 2,935 คัน เพื่อให้เข้ารับการตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน
2. ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง (30) ทั้งระบบ (การประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ)
3. สำหรับกรณีให้บริการรถโดยสารประจำทาง (30) ให้ ขบ. บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศกรณีนำรถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้บริการ โดยให้ประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง พร้อมอบรมครูและซักซ้อมมาตรการความปลอดภัยก่อนเดินทางด้วย
4. ออกกฎหมายให้มีพนักงานประจำรถเช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง โดยพนักงานและผู้ประจำรถต้องได้รับการอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management)
5. ออกกฎหมายระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการ (เช่นเดียวกับสายการบิน)
“กระทรวงคมนาคมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ วันนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับมาตรฐานทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และฝากถึงผู้ประกอบการขอให้ช่วยตรวจสอบรถ พนักงานขับรถ และผู้ประจำรถ ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอีกต่อไป” นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้าน นายจิรุตม์ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอายุการใช้งานของรถว่า ที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้กำหนดอายุการใช้งานของรถโดยสารไม่ประจำทางแต่ในส่วนของรถโดยสารประจำทางนั้น คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้กำหนดอายุ การใช้งานของรถโดยสารประจำทางไว้ดังนี้ รถที่วิ่งประจำทางระยะไกลมีระยะทางเกินกว่า 500 กิโลเมตร (กม.) ให้มีอายุคัสซีได้ไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถที่วิ่งระยะทางปานปลาย 300-500 ให้มีอายุคัสซีได้ไม่เกิน 35 ปี และรถที่วิ่งประจำทางระยะสั้น 300 กิโลเมตร ลงมาให้มีอายุคัสซีได้ไม่เกิน 30 ปี สำหรับรถทีวิ่งระยะสั้นในเขตเมืองหรือรถหมวด1ให้มีอายุคัสซีไได้ไม่เกิน 50 ปี ส่วนรถโดยสารประจำทาง
แต่อย่างไรก็ตามจากนี้ไปขบ.จะพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอายุการใช้งานของรถโดยสารไม่ประจำทางว่าควรใช้ข้อกำหนดเช่นเดียวกันกับรถโดยสารประจำทางหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด