GCบอร์ดไฟเขียวจำหน่ายหุ้นซื้อคืนจำนวน0.495%

ผู้ชมทั้งหมด 1,273 

GC บอร์ดไฟเขียวจำหน่ายหุ้นซื้อคืนจำนวน 0.495% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือ 22,300,000 หุ้น เพื่อการบริหารทางการเงิน พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC  เปิดเผยว่า บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ (บอร์ด) มีมติอนุมัติโครงการจำหน่ายหุ้นซื้อคืนของบริษัทฯ เพื่อการบริหารทางการเงิน (Treasury Stocks) จำนวนหุ้นที่จะจำหน่ายคือ 0.495% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือ 22,300,000 หุ้น โดยเป็นหุ้นเดิมที่บริษัทฯ เคยทำการซื้อคืนไว้ในปี 2562 ซึ่งการจำหน่ายหุ้นซื้อคืนในครั้งนี้ เป็นไปตามกฏเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ที่บริษัทฯ สามารถจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนหลังเสร็จสิ้นโครงการ Treasury Stock ในระยะเวลา 6 เดือนแต่ไม่เกิน 3 ปี โดยปัจจุบันเหลือระยะเวลาดำเนินการในกรอบดังกล่าวประมาณ 18 เดือน หรือระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2564 – 9 ธันวาคม 2565

ทั้งนี้จากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวภายหลังวิกฤติโควิด 19 ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีนมีมาตรการผ่อนคลายล็อคดาวน์ รวมทั้งราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานไปตามกฏเกณฑ์ของตลท. ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนหุ้นน้อยมากคือเพียง 0.495% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

โดยมีการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวและเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นสูงสุดเนื่องจากมีเวลาดำเนินการนานถึง 1.5 ปี ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพในการขยายการลงทุนโครงการต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องและโปร่งใส ทั้งนี้ การซื้อคืนหุ้น (treasury stock) ตลอดจนการจำหน่ายคืนที่เพิ่งแจ้ง ตลท ไปยังช่วยให้บริหารสภาพคล่องส่วนเกินและแสดงถึงความมั่นใจในธุรกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ GC มีกลยุทธ์และแนวทางเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ให้เติบโตในเวทีโลก เพื่อรองรับการขยายและเพิ่มความยืดหยุ่นของธุรกิจในอนาคต ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่นในการเป็นต้นแบบองค์กรเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล มุ่งเน้นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล