กทพ.เปิดไทม์ไลน์ลงทุน 11 โครงการสร้างทางด่วน กรอบวงเงินลงทุนรวม 3 แสนล้าน  

ผู้ชมทั้งหมด 754 

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดดำเนินการมา 52 ปี มีการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) และเปิดให้บริการแล้วหลายเส้นทางกรุงเทพฯ เชื่อมปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 11 โครงการ โดย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการกทพ. ระบุว่า แผนลงทุนสร้างทางพิเศษจากจำนวน 11 โครงการนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.70 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 31,244 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 5 สัญญา   

สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 73.92% สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2 – โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 91.08% สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 78.18% สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างช่วงสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพยาขนาดกับสะพานพระราม 9 ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาจ้างก่อสร้าง สำหรับภาพรวมทั้งโครงการนั้นมีความคืบหน้า 82.77% คาดเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายน 2568

อีกโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คือ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กิโลเมตรกรอบวงเงินลงทุนรวม 24,060 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนกทพ.ดำเนินการลงทุนเอง ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2571

โครงการที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติดำเนินโครงการ

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติ ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (Double Deck) + 4 โครงการย่อย ระยะทาง 20.09 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 34,800 ล้านบาท รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน พรบ.การร่วมลงทุนฯ 2562 และเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA

โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก (N2 เดิม) ระยะทาง 6.70 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 13,666 ล้านบาท โครงการนี้ กทพ.จะดำเนินการลงทุนเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อประกอบการขออนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการในเดือนพฤศจิกายน 2567

โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ – ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 16,757 ล้านบาท รูปแบบการลงทุน กทพ.จะลงทุนงานโยธา และเอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และคาดว่าจะเสนอให้ครม.อนุมัติให้ดำเนินโครงการได้ในเดือนพฤศจิกายน 2567 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2569 เปิดให้บริการในปี 2573

โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และศึกษา EIA

โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ระยะทาง 30.62 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 45,870 ล้านบาท กทพ.จะลงทุนงานโยธา และเอกชนร่วมลงทุนงาน O&M โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) มีมติเห็นชอบให้ กทพ.เสนอรายงาน EIA ต่อกก.วล. และคาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการได้ในเดือนตุลาคม 2568 เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2570 เปิดให้บริการในปี 2573

โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเพทฯ และทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) กรอบวงเงินลงทุนรวม 4,984 ล้านบาท รูปแบบการลงทุน กทพ.ดำเนินการ (PSC) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ร่วมลงทุนค่าก่อสร้าง คาดว่าจะเสนอให้ครม.อนุมัติโครงการในเดือนมิถุนายน 2568 เริ่มดำเนินการก่อสร้างเดือนตุลาคม 2570 เปิดให้บริการปี 2572 โครงการทางพิเศษสายศรีรัช – ฉลองรัช (N1 เดิม) ระยะทาง 11.30 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 49,738 ล้านบาท กทพ.ดำเนินการลงทุนเอง สถานะโครงการอยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรูปแบบการลงทุน

โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 15.80 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 20,710 ล้านบาท เบื้องต้นรูปแบบการลงทุนเป็น PPP แต่หากไม่มีความสนใจจากภาคเอกชน กทพ.ก็จพิจารณาลงทุนเอง คาดว่าจะเสนอครม.ให้อนุมัติโครงการได้ในเดือนธันวาคม 2568 และดำเนินการประกวดราคาในปี 2569 เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2570 กำหนดเปิดให้บริการในปี 2573 โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทาง 37.32 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 48,010 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนเป็น PPP สถานะโครงการอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการ คาดเสนอครม.อนุมัติโครงการได้ในปี 2570 เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2572 เปิดให้บริการในปี 2576 โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวม 15,000 ล้านบาท