รฟม. ร่วมกับ จุฬาฯ โชว์ผลงานวิจัย AI ยกระดับการรักษาความปลอดภัยในเขตระบบรถไฟฟ้า

ผู้ชมทั้งหมด 168 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยมุ่งเน้นการนำระบบ AI (Artificial Intelligent) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัย การนำ AI มาใช้ตรวจจับ แจ้งเตือน และป้องกันการบุกรุกในพื้นที่เขตระบบรถไฟฟ้า ของ รฟม. ยกระดับด้านการรักษาความปลอดภัยในเขตระบบรถไฟฟ้า

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. กล่าวว่าตามที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการนำระบบ AI (Artificial Intelligent) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 รฟม. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกัน ดำเนินการศึกษาวิจัย หัวข้อ “การพัฒนาระบบตรวจจับแจ้งเตือนและป้องกันการบุกรุกในพื้นที่เขตระบบรถไฟฟ้า รฟม. ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อประเมินพื้นที่ในเขตระบบรถไฟฟ้าของ รฟม.ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการบุกรุก และพัฒนาระบบตรวจจับและแจ้งเตือนโดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตรวจจับ วิเคราะห์ และจำแนกแจ้งเตือนเหตุการณ์บุกรุกในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งระบบตรวจจับและแจ้งเตือนฯ ที่ รฟม. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันพัฒนาขึ้นจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านรักษาเขตทาง การตรวจตราดูแลรักษาความปลอดภัย การดูแลความสงบเรียบร้อยเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมกับ รฟม. และประชาชนในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเขตระบบรถไฟฟ้า

สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้บุคลากรของ รฟม. ได้รับความรู้ใหม่ๆ ในมุมมองที่หลากหลายและเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในสายงานที่รับผิดชอบโดยตรงและส่วนงานอื่นๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการวิจัยและพัฒนาภายใน รฟม. เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และวางแผนอย่างเป็นระบบ

พร้อมนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนา และขยายผลของงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งต่อไปในอนาคต