GPSC ลงนาม 3 แบงค์รัฐ-เอกชน เสริมแกร่งเงินกู้ระยะยาวมูลค่า 7 พันลบ. ลุยพลังงานสะอาด

ผู้ชมทั้งหมด 489 

GPSC ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 7,000 ลบ. หวังนำเงินขยายธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มุ่งสู่แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ GPSC ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้รวม 3 ฉบับ ณ สำนักงาน GPSC อาคาร Energy Complex จตุจักร กรุงเทพฯ รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท กับ 3 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (TTB) จำนวน 5,000 ล้านบาท ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) จำนวน 1,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับพอร์ตเงินกู้ของบริษัทฯ และสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

GPSC ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันทางการเงินทั้ง 3 แห่งนี้ ซึ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในพลังงานสะอาด นับเป็นการเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับบริษัทฯ เพื่อขยายธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักในการเติบโตโดยมุ่งเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทในการ Decarbonization ให้กับกลุ่ม ปตท. พร้อมกับการเสริมสร้างเสถียรภาพ (Reliability) ทางด้านไฟฟ้าให้กับกลุ่ม ปตท. ประกอบกับการหาโอกาสในการเติบโตธุรกิจใหม่ๆ สอดรับกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลก และแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ของไทยที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด และเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero

ทั้งนี้ GPSC ให้ความสำคัญในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบพลังงานให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 65% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2569 และยังคงมุ่งเน้นแผนขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนองค์กร ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืน 1 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินหน้าสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดตามเป้าหมายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และ Net Zero GHG Emissions ภายในปี 2603 สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงานโลก ที่เน้นการใช้พลังงานที่ยั่งยืน และให้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม