ผู้ชมทั้งหมด 584
“พลังงาน” ชี้ มติ กบง.เห็นชอบปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ทุ่นลอยน้ำ อยู่ที่ 1 บาทต่อหน่วย จากกำลังผลิตส่วนเกินของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่มีโรงไฟฟ้าที่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง เวลา 2 ปี หวังจูงใจผู้ประกอบการเข้าร่วมขายไฟ เหตุช่วยลดนำเข้า LNG ประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ อัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ กำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 ถึง 31 ธ.ค. 2569)นั้น
การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว เป็นไปตามที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำเสนอ เนื่องจาก โครงการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในปี 2565 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2567
สำหรับ โครงการ รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานฯ ในปี2565 เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤติราคาพลังงานในขณะนั้น ที่เกิดการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณของไทย ยังผลิตก๊าซฯเข้าระบบไม่เต็มที่ตามสัญญา เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทย ทั้งด้านราคาและปริมาณ กระทรวงพลังงาน จึงเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาส่งเสริมการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหลือใช้ของผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า และลดปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงในขณะนั้น
จนนำไปสู่การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในโครงการฯดังกล่าว ตามเงื่อนไข ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ อยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม อยู่ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) โดยที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ขายไฟฟ้าเข้าระบบตามโครงการฯ นี้แล้ว 64 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ อัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ตามมติกบง.นั้น เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น จากเดิมที่ให้อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน อยู่ที่ 0.50 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ทั้งนี้ พบว่า โครงการฯดังกล่าว มีประโยชน์เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าไม่แพง และยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าลงได้ เพราะจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า LNG ลงได้ประมาณ 1 ลำเรือ หรือ ประมาณ 60,000 ตัน โดยคาดหมายว่า ในช่วง 2 ปีจากนี้ จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าผ่านโครงการฯดังกล่าวได้เกือบ 100 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม อัตรารับซื้อไฟฟ้าโครงการฯดังกล่าว ยังต้องรอนำเสนอ กพช. พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง จากนั้น กกพ. จะต้องออกระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า และออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการต่อไป คาดว่า จะเปิดรับซื้อพร้อมกันทุกประเภทได้ทันวันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป