ปตท.ซุ่มเจรจาพันธมิตรลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้ชมทั้งหมด 984 

ปตท.ซุ่มเจรจาพันธมิตรเตรียมลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไตรมาส 3/64 เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มยานยนต์ EV พร้อมนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มั่นใจผลประกอบการปีนี้ดีกว่าปี 63 มั่นใจทั้งกลุ่มบริหารจัดการการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า แผนการลงทุนสร้างโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV ปัจจุบันปตท.อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรหลายราย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV รองรับความต้องการใช้ยานยนต์ EV ในอนาคต

สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ EV นั้นจะผลิตทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ มอเตอร์ไซค์ EV และรถยนต์ 4 ล้อ แท่นชาร์จไฟฟ้า หัวชาร์จ และการจัดทำแพลตฟอร์ม EV รวมถึงการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร  (EV Value Chain) โดยในเบื้องต้นปตท.เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์ม EV ในไตรมาส3นี้ ส่วนการผลิตแบตเตอรี่จะเป็นหน้าที่ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นผู้ลงทุนผลิตแบตเตอรี่อยู่แล้ว ซึ่งการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV นั้นดำเนินงานโดยบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยปตท.  

ส่วน มอเตอร์ไซค์ EV จำนวน 30 คันนั้นปัจจุบันบริษัท SWAP & GO (บริษัทย่อย ปตท. ลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า) ปัจจุบันจดทะเบียนเรียบร้อยและนำเข้ามาครบหมดแล้ว เพื่อทดลองใช้งานกับกลุ่ม Fleet Delivery นอกจากนี้ ปตท.ยังอยู่ระหว่างการออกแบบมอเตอร์ไซค์ EV คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จปลายปีนี้ เพื่อผลิตเป็นยี่ห้อของตัวเอง

นายอรรพล กล่าวถึงการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ว่า การนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด – 19 นั้นเป็นการร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน โดย ปตท.จะนำไปใช้สำหรับพนักงานของกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล และเป็นการช่วยกระจายการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่านำเข้าวัคซีนจำนวนกี่โดส ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ขณะเดียวกัน ปตท.ก็พร้อมร่วมเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนของภาครัฐ นอกเหนือจากสถานีบริการน้ำมัน พีทีทีสเตชั่น ใน กรุงเทพมหานครก็พร้อมจะใช้พื้นที่อื่นๆ ของกลุ่ม ปตท.ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นๆ ในการเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนให้ทั่วถึง

พร้อมกันนี้บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท. ซึ่งร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาแห่งไต้หวันเตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะนำเข้ามา 2 พันขวด เพื่อบริจาคให้รัฐบาลไทยไปบริหารจัดการในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จากปัจจุบันประเทศไทยนำเข้ามาแล้ว 4 พันขวด

นายอรรถพล ยังได้กล่าวถึงแนวโน้มผลประกอบการในปีนี้ ว่า คาดว่าภาพรวมผลประกอบการปี 2564 จะเติบโตดีกว่าปี 2563 เนื่องจากผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ทีมีกำไรสุทธิ 32,588 ล้านบาทนั้น สามารถทำผลประกอบการได้ใกล้เคียงกับผลประกอบการทั้งปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 37,765 ล้านบาท เนื่องจากสถานการน้ำมัน และปิโตรเคมีปรับตัวดีขึ้น และกลุ่ม ปตท. สามารถบริหารจัดการการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม อย่างไรก็ตามผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีนี้จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือไม่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การระบาดของโควิด – 19 กลุ่มปตท.ก็จะทำให้ดีที่สุด