“กลุ่มปตท.” กับภารกิจขับเคลื่อน “เทคโนโลยี CCS” สู่องค์กรคาร์บอนต่ำ

ผู้ชมทั้งหมด 662 

โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะช่วยรับมือกับปัญหาโลกร้อน และสอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทย ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608

ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยนำเทคโนโลยีด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน และภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย

กระทรวงพลังงาน มีนโยบายการขับเคลื่อนส่วนต่างๆในภาคพลังงาน เพื่อรองรับวาระและเจตนารมณ์ดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่พลังงานสะอาด

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้คำนึงถึงความสำคัญและพร้อมสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการร่วมมือกับบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มทำการศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการประกอบกิจการต่าง ๆ  เช่น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงไปเก็บในชั้นหินใต้ดินในระดับความลึกที่มีความเหมาะสมในการกักเก็บ CO2 อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการปล่อย CO2 ในปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดได้

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเทคโนโลยี CCS ในอนาคต ได้แก่

(1) การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินงาน 

(2) การประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชนและสถานศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการศึกษา วิจัย และพัฒนาการดำเนินงานด้าน CCS

และ (3) การศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางด้านต่างๆ ในการส่งเสริมและพัฒนางานด้าน CCS ในประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยี นโยบาย กฎหมายและแนวทางการสร้างแรงจูงใจ (incentive approach) ให้แก่ผู้ประกอบการในการควบคุมปริมาณคาร์บอนจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ได้ตามมาตรฐานสากล

ขณะที่ กลุ่ม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT หน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี CCS เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายของบริษัทในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและของประเทศ

ปัจจุบัน ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำแผนกลยุทธ์ใหม่ ซึ่งจะมีแผนการสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS)  โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. กำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน และมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดรับกับวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD”

สำหรับการพัฒนา เทคโนโลยี CCS ของกลุ่ม ปตท. เริ่มขึ้นราวปี 2565 โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ในโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Eastern Thailand CCS Hub โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี (Seaboard) เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง

โครงการ Eastern Thailand CCS Hub จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก

1.การดักจับดัดกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอน (CO2 Capture) ที่ปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะถูกดักจับและแยกจากก๊าซเสีย (Flue Gas)

2.การรวบรวมและขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คาร์บอน (CO2 Gathering & Transport) โดย CO2 ที่ถูกดักจับ จะถูกส่งไปยังสถานีรวบรวม (Collection Terminal) ซึ่งเป็นสถานีบนฝั่งที่ใช้รองรับ และกักเก็บ CO2 ไว้ชั่วคราว

3.พื้นที่การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คาร์บอน (CO2 Storage)  โดย CO2 จะถูกส่งผ่านท่อใต้ทะเลไปยังแหล่งกักเก็บนอกชายฝั่ง ระยะทางประมาณ 100-200 km และอัดกลับเข้าไปในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร ไม่เกิดการปล่อยออกสู่บรรยากาศอีก

ทั้งนี้ โครงการในระยะแรกจะเน้นที่การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท. ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้า และขยายขอบเขตไปยังกลุ่มโรงงานนอกกลุ่มปตท.

ปัจจุบัน โครงการนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาด้านเทคนิควิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตลอดจนความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งกฎหมายและกฎระเบียบ เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อการผลักดันให้เกิดโครงการ

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ภายใต้การดำเนินงาน ของ ปตท.สผ. ยังได้พัฒนาโครงการ CCS แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ โครงการ Arthit CCS (แหล่งอาทิตย์) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) แล้ว ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี 2570 โดยหลังจากการนำก๊าซธรรมชาติจากหลุมใต้ดินขึ้นมาใช้หมดแล้ว จะนำของเหลือที่ไม่ต้องการ เช่น CO2  ซึ่งถูกดักจับไว้และจะถูกอัดกลับลงในหลุมที่ว่าง เพื่อกักเก็บถาวรในชั้นหินใต้ดินลึกลงไปมากกว่าพันเมตร คาดว่าจะสามารถลดการปล่อย CO2 ประมาณ 700,000–1,000,000 ตันต่อปี

รวมถึง ปตท.สผ. ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410บี ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ ปตท.สผ.ค้นพบในประเทศมาเลเซียด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากกรณีความสำเร็จของการดำเนินโครงการ CCS  พบว่า ปัจจุบันมีโครงการ CCS ที่ดำเนินการอยู่ 41 แห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งขอยกตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จมีการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ โครงการ Northern Lights (Longship) ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นโครงการ CCS ขนาดใหญ่ครบวงจร และมีโมเดลธุรกิจแบบข้ามพรมแดน(Cross-Border) ในสหภาพยุโรปแห่งแรกของโลก โดยซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบ 2 แห่งแรก ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐมากกว่า 60% ในการติดตั้งหน่วยดักจับ CO2  และได้ประโยชน์จากการลด CO2 และระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซของสหภาพยุโรป (EU Emissions Trading System : ETS) รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าบริการ (Service fee) ในการขนส่งและกับเก็บ CO2 ซึ่งโครงการ Northern Lights (Longship) ใช้เงินลงทุนสูงถึง EUR 2.3 bn โดยโครงการฯนี้และสามารถเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนงบ 80% จากรัฐบาล และมีรูปแบบธุรกิจแบบ Cross-Border ที่ชัดเจน เป็นต้น

หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการ CCS ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายในการผลักดันและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อลดปัญหาโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ