“สุริยะ” เล็งดึงญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษาสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินสุวรรณภูมิ

ผู้ชมทั้งหมด 364 

สุริยะ” เล็งญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมร่วมพัฒนาคมนาคมขนส่งทุกมิติ เชื่อม บกรางน้ำอากาศ ดันไทยสู่ฮับอาเซียน

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายนากานิชิ ยูสุเกะ สมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดโทกุชิม่า และจังหวัดโคจิ พร้อมคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย และเยี่ยมชมโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคมที่ได้รับการสนับสนุนด้าน Official Development Assistance (ODA) จากรัฐบาลญี่ปุ่น ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อภูมิภาคเราเป็นอย่างมาก ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีระดับโลก โดยประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือด้าน ODA ทางวิชาการจากญี่ปุ่นผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ครั้งแรกเมื่อปี 2497 ซึ่งเป็นเวลากว่า 70 ปี 

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (ทิศใต้) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 (Terminal 3) ของท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาท่าอากาศยานจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในการเพิ่มนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยในอนาคตอาจมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุน ODA จากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานของประเทศไทย

ด้านระบบรางขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตเมือง และมีนโยบายปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งจากถนนมาสู่ระบบราง จึงได้มีการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟใต้ดินและรถไฟรางคู่ การสนับสนุนองค์ความรู้และเงินกู้จากญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านในระบบการขนส่งของไทยจากถนนไปสู่ระบบรางเป็นไปอย่างราบรื่น โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนโครงการด้านระบบรางของประเทศไทย เช่น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ) เป็นต้น

สำหรับ ODA หมายถึง ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่ประเทศพัฒนาแล้วมอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ความช่วยเหลือแบบเงินให้เปล่า และความร่วมมือทางวิชาการ (Grant and Technical Cooperation)  2) ความช่วยเหลือทางการเงิน หรือเงินกู้ผ่อนปรน (Financial Assistance and Soft Loan) และ 3) เงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนแก่องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพหุภาคี และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Contribution to International Organizations) โดยประเทศที่มอบความช่วยเหลือด้าน ODA มักเป็นประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD เนื่องจากมีข้อบังคับในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเงินกู้ เงินให้เปล่า ผ่านทางผู้เชี่ยวชาญหรือความช่วยเหลือทางวิชาการต่าง ๆ มายังหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อการพัฒนาไปสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน