“คมนาคม” สั่งเข้มจับกุมเจ้าหน้าที่ ทล.เรียกรับส่วยรถบรรทุก

ผู้ชมทั้งหมด 225 

“คมนาคม” บูรณาการ CIB – ป.ป.ท. – ป.ป.ช. จับกุมเจ้าหน้าที่ ทล. เรียกรับส่วยรถบรรทุก เร่งศึกษากฎหมายเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เน้นย้ำ “ส่วยสติกเกอร์ ส่วยทางหลวง”ต้องหมดไปในรัฐบาลนี้

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมข้าราชการกรมทางหลวง (ทล.) ที่เรียกรับส่วยรถบรรทุก โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ในการดำเนินการตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้บังคับใช้กฎหมายจัดการและแก้ไขปัญหารถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินหรือมีสภาพทรุดทรุดโทรมก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ และอาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย และสร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเข้มงวด

กระทรวงคมนาคมได้มีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่ง การนำเทคโนโลยีระบบตรวจวัดสามมิติ (3D Measurement System) ร่วมกับด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion: WIM) พร้อมทั้งระบบกล้องถ่ายป้ายทะเบียน (LPR) เพิ่มสถานีตรวจสอบน้ำหนักและจุดจอดพักรถบรรทุก รวมถึงหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนงานและงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ให้ครอบคลุมโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบางรายที่เรียกรับผลประโยชน์จากการปฏิบัติงาน กระทรวงคมนาคมจึงประสานงานกับตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สืบสวนขยายผลจนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 3 ราย ประกอบด้วย นายนพดล แสนงาย ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลอาวุโส หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออก ทล. และเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ Spot check นายอเนก คำโฉม ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลชำนาญงาน หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทด ขาเข้านครราชสีมา และนายธงชัย เต็มฟอม พลเรือนทำหน้าที่เป็นหน้าเสื่อคอยเคลียร์กับผู้ประกอบการรถบรรทุก

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยึดมั่นในการกวาดล้างส่วยสติกเกอร์รถบบรรทุกที่น้ำหนักเกิน โดยในปีที่ผ่านมาได้ตรวจสอบการบรรทุกน้ำหนักมากกว่า 30 ล้านครั้ง และสามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ถึง 2,600 ครั้ง  อีกทั้งได้เร่งศึกษาและพิจารณาถึงการแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดบทลงโทษให้หนักและเข้มงวดมากขึ้น  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดจะได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง เพื่อขยายผลต่อไป

“นายสุริยะได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าปัญหาส่วย   ทางหลวง ส่วยสติกเกอร์จะต้องหมดไปในยุคของรัฐบาลนี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมโดย ทล.จะแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามต่อไป” นายกฤชนนท์ กล่าว