ผู้ชมทั้งหมด 461
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเชิญเป็นวิทยากรเสวนาในงานสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2567 “Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” ในหัวข้อ “Fiscal GreenPrint: Bridging Policy and Practice เชื่อมนโยบายสู่การปฏิบัติ” ร่วมกับ ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้จัดการด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด และ นายธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์
นายชัยวัฒน์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวทางการปรับตัวของธุรกิจในการตอบสนองต่อกฎระเบียบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการจัดทำบัญชีคาร์บอน ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) และประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) เพื่อให้มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร วางแผนสู่เป้าหมาย Net Zero รวมถึงเตรียมรับมาตรการต่าง ๆ ทางด้านภาษีทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกสินค้า ที่ต้องเผชิญกับมาตรการอย่าง CBAM (Carbon Border Adjustment) และได้กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือแรงจูงใจจากภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยธุรกิจในการปรับตัวได้ โดยยกตัวอย่าง Inflation Reduction Act ของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในทางหนึ่ง
สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อรับกับมาตรการทางด้านภาษีที่นำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวตั้ง และกำลังเข้มข้นขึ้นในระดับสากล การชดเชยคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องสำคัญ โดยย้ำว่าการจัดตั้งมาตรฐานการตรวจสอบคาร์บอนเครดิตร่วมกันในอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยสร้างความสอดคล้องกันระหว่างประเทศสมาชิกในด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและตลาดคาร์บอน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในตลาดคาร์บอนของภูมิภาค ลดความเสี่ยงจากการนับซ้ำหรือการทุจริต อีกทั้งยังส่งเสริมการค้าและการลงทุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มพลังเสียงของอาเซียนในเวทีเจรจาระดับโลก ทำให้ภูมิภาคนี้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดทุนสามารถเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนในด้านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ยังได้แบ่งปันประสบการณ์การดำเนินธุรกิจของบางจากฯ ที่ได้เล็งเห็นแนวโน้มในอนาคตที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และได้ริเริ่มดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นผู้นำ อาทิ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การลงทุนในเหมืองแร่ลิเทียม วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ SAF รวมถึงการก่อตั้ง Carbon Markets Club ในปี 2564 เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการรับมือ
ภายในงาน บางจากฯ ได้นำบูธนิทรรศการของCarbon Markets Club คลับรักษ์โลกแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดยบางจากฯ บีซีพีจี และองค์กรพันธมิตรรวม 11 องค์กรเมื่อปี 2564 และปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,200 รายทั้งประเภทองค์กรและบุคคล ไปร่วมจัดแสดง ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมสัมมนาเป็นอย่างมาก และได้รับเกียรติจาก ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เยี่ยมชมและรับฟังข้อมูลจากนางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บางจากฯ และประธาน Carbon Markets Club