ผู้ชมทั้งหมด 423
ทล.จัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐาน SDOs ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างถนน เพิ่มความปลอดภัย สร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานนในพิธีจัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) แห่งกรมทางหลวง ว่า ทล.ให้ความสำคัญกับการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา พร้อมเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านงานทาง ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดขึ้นจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทล.โดยสำนักมาตรฐานและประเมินผล จึงได้จดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใส เป็นไปตามหลักวิชาการสากล และยกระดับคุณภาพทางหลวงไปอีกขั้น
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ทล.ได้รับใบจัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของกรมทางหลวงในการมีบทบาทที่จะกำหนดทิศทางและมาตรฐานของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ดังนี้
1. ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางถนน การเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยให้กรมทางหลวงสามารถนำมาตรฐานที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาปรับใช้ในการออกแบบ ก่อสร้าง และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนส่งผลให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และยั่งยืน
2. ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี: การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญและภาคส่วนต่างๆ ใน S00s จะช่วยให้กรมทางหลวงได้รับทราบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยยิ่งขึ้น
3. บูรณาการมาตรฐานระดับสากล: การเข้าร่วม SDOS จะช่วยให้กรมทางหลวงสามารถปรับปรุงมาตรฐานภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางเทคนิคในการค้าและการลงทุน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
4. เสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่าย: การมีส่วนร่วมใน SDOs จะช่วยสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญ องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ รวมถึงความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน
5. ยกระดับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ การมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานระดับสากลจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือถือให้กับกรมทางหลวงและประเทศไทยในเวทีโลก สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนความพร้อมในการแข่งขันในระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนการจัดทำ มอก. นั้น สำนักมาตรฐานและประเมินผลจะดำเนินการทั้งรูปแบบการดำเนินการ และจ้างที่ปรึกษาควบคู่กันไป โดยมาตรฐาน มอก. ที่ดำเนินการจะเสนอผ่านคณะะกรรมการวิชาการของกรมทางหลวง ซึ่งมีเป้าหมายสาขาที่ ทล.จดทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว จำนวน 4 สาชา ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์คอนกรีต 2.ยางและผลิตภัณฑ์ยาง 3.การจัดการสิ่งแวดล้อมและ 4.การจัดการระบบชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งในระยะแรกสำนักมาตรฐานและประเมินผลมีเป้าหมายที่จะจดทะเบียนให้ได้จำนวน 10 สาขา ซึ่งจะคลอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภารกิจของกรมทางหลวงในปัจจุบันเกือบทั้งหมด
ทั้งนี้ การจัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐานแห่งกรมทางหลวงจะเป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าในอนาคต เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพสูงสุดต่อไป