ผู้ชมทั้งหมด 467
สภาวะเศรษฐกิจ พัฒนาการของเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆวัน ล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล เดิมได้จัดทำแผนการลงทุนระยะ 5 ปี ข้างหน้า โดยกำลังเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ แตะระดับ 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบัน มีกำลังการผลิตราว 3,656 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจัยทางธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ทำให้ BPP เตรียมปรับแผนการลงทุนระยะ 5 ปีใหม่ (2568-2573) โดยอาจให้ความสำคัญกับเป้าหมายการมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) แทนเป้าหมายกำลังการผลิต
นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ คาดว่า จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการลงทุนของบริษัท นับตั้งแต่ช่วงปี 2568 – 2573 โดยแผนงานดังกล่าวจะประกอบด้วย กำลังการผลิตไฟฟ้า, โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน โดยเฉพาะด้านพลังงานไฮโดรเจน แอมโมเนีย และด้านเทคโนโลยีพลังงาน เป็นต้น รวมถึงอาจจะมีการกำหนดเป้าหมาย EBITDA ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งแผนฯใหม่นี้จะสอดคล้องกับทิศทางการเติบโต ของบริษัทแม่ “บ้านปู”
ขณะที่งบลงทุนในช่วง 3 ปีนี้ (2567-2569) บริษัทตั้งไว้ที่ประมาณ 500-700 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน เป็นหลัก โดยสัดส่วนกว่า 90% ของเงินลงทุนรวม จะมุ่งเน้นการเติบโตในสหรัฐ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า CCGT ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence)
ส่วนทิศทางการดำเนินงานของบริษัท ในช่วงไตรมาส 3 ปี2567 คาดว่า ผลการดำเนินงานจะมีการเติบโตขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หลักๆ มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (CCGT) ในสหรัฐฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข้าไฮซีซันฤดูร้อนส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานสูงกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ปรับตัวได้ดีขึ้น และเชื่อมั่นว่า กำไรของบริษัทในปีนี้ จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่มีกำไรราว กว่า 5,000 ล้านบาท แม้ว่าครึ่งแรกของปี 2567 จะทำกำไรอยู่ราว 1,659 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2566 มีการรับรู้กำไรพิเศษเข้ามา ซึ่งหากตัดกำไรพิเศษออกไป ก็จะเห็นว่า อัตรากำไรที่ทำได้ในปีนี้ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนแล้ว และโดยปกติในช่วงไตรมาส 3 จะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจไฟฟ้า
สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกปี 2567 ของ BPP เป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,659 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน* พร้อมเริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar มีกำหนดเริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Gemeng International Energy เพื่อขยายการเติบโตของพลังงานสะอาดในจีน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการขยายพอร์ตให้ครอบคลุมมากไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ ทั้งการขยายกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS)”
ภาพรวมครึ่งปีแรก BPP มีผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนสำคัญเกิดจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรับรู้รายได้จากการเดินเครื่องที่มีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนยังรายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ บาร์เนตต์ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ BPP ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gemeng International Energy ในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานในรูปแบบใหม่ ธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน
ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานซึ่ง BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์
ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่โครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว
ส่วนธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์