ผู้ชมทั้งหมด 484
โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลายบริษัทต่างปรับตัวและมีการปรับแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยการขยายการลงทุนสร้างการเติบโตให้กับบริษัทยังได้ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการไปสู่เป้าหมาย (Net Zero) สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” ว่า กลุ่มปตท.จะเร่งสร้างความแข็งแรงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจ Hydrocarbon ที่เป็น Core Business ของ ปตท. ที่ ปตท. ทำได้ดี แต่จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวพร้อมรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เร่งผลักดันพัฒนาพื้นที่ OCA
โดยธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิต ร่วมกับ Partner มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยในพื้นที่ OCA นั้น ปตท.มีความสนใจที่เข้าไปลงทุนพัฒนา ซึ่งเชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันอยู่จำนวนมาก วิธีการจะให้เกิดการลงทุนพัฒนาพื้นที่ก็ต้องช่วยรัฐบาลในทุกด้าน เพื่อผลักดันให้มีการลงทุนพัฒนาในพื้นที่ OCA
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากลุ่มปตท. เคยดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะคล้ายๆ กับพื้นที่ OCA มาแล้ว โดยการร่วมลงทุนพัฒนากับประเทศมาเลเซีย ในโครงการพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) เป็นพื้นที่ใต้ทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในบริเวณอ่าวไทย ดังนั้นในการลงทุนพัฒนาพื้นที่ OCA จะให้เกิดผลสำเร็จอาจจะต้องเจรจากันเฉพาะเรื่องการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันมาแบ่งกันให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ ปตท.คงต้องช่วยรัฐบาลทุกเรื่อง ผลักดันร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้สามารถมีการพัฒนาในพื้นที่ OCA ได้ ส่วนของธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้ามี Mandate ให้เสริมสร้าง Reliability และ Decarbonize ให้กับกลุ่ม ปตท.
เปิดกว้างต่างชาติถือหุ้นธุรกิจ Downstream
สำหรับธุรกิจ Downstream หรือธุรกิจโรงกลั่น และปิโตรเคมีที่ลงทุนโดยบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC นั้นจะต้องปรับตัว และสร้างความแข็งแรงร่วมกับพันธมิตร (Partner) แสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy ร่วมกันเพิ่มเติม โดยเปิดกาสให้พันธมิตรเข้ามาถือหุ้น เพิ่มทุนใน IRPC TOP PTTGC หรืออาจจะเป็นในรูปแบบการร่วมลงทุนกันในบางโครงการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีของกลุ่มปตท. ซึ่งขณะนี้ก็มีต่างชาติสนใจและเข้ามาเจรจากับกลุ่มปตท. บ้างแล้ว
“การหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนในธุรกิจโรงกลั่น และปิโตรเคมีอาจจะเป็นได้รูปแบบทั้งการเข้ามาถือหุ้น เพิ่มทุน การร่วมลงทุนสามารถทำได้หมด แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขต่างๆ ว่าจะสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจ Downstream ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการดำเนินธุรกิจจะต้องหาอะไรที่ดีขึ้นเรื่อๆ คนเก่งเรื่องนี้ในโลกก็มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจีน ตะวันออกกลาง การที่มีพันธมิตรแล้วทำให้มันดีขึ้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้หมายความว่าสินค้าของกลุ่มธุรกิจ Downstream ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกแล้วจึงต้องหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน” นายคงกระพัน กล่าว
ปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก
นายคงกระพัน กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกนั้นจะต้องมุ่งหน้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย ปรับพอร์ตการลงทุนให้มี Substance และ Asset Light รวมถึงการรักษาการเป็นผู้นำตลาด ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ Non-Hydrocarbon โดยจะประเมินธุรกิจนี้ใน 2 มุมคือ 1) ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractive) และ 2) ปตท. มี Right to Play หรือมีจุดแข็ง สามารถเข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้นๆ ได้ และมี Partner ที่แข็งแรง
ควบรวมแบรนด์ธุรกิจ EV
สำหรับแนวทางการลงทุนในธุรกิจ Non-Hydrocarbon นั้นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV ปตท. จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีการควบรวมแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. และใช้ OR Ecosystem ที่มี Touch Point อยู่ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์ ส่วนธุรกิจ Logistics ปตท. จะเน้นไปเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business ของ ปตท. และมี Captive Demand อยู่แล้ว โดยยึดหลัก Asset-light และมี Partner ที่แข็งแรง ในขณะที่ธุรกิจ Life Science ปตท. จะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน (Self-funding) และสร้าง Goodwill ให้กับสังคม
สร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร
นอกจากนี้แผนกลยุทธ์ใหม่นั้นกลุ่มปตท. ยังมีแผนการสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS) โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. โดยต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน และมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัท ในกลุ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมี ปตท. ดูภาพรวม
นอกจากนี้ ปตท. ให้ความสำคัญเรื่อง Operational Excellence หรือ OpEx อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งกลุ่ม อีกทั้งมุ่งเน้นเสริมศักยภาพบุคลากรและการมุ่งรักษาพื้นฐานที่สำคัญ มุ่งเน้นธรรมาภิบาล และการกำกับกิจการที่ดี และการมีความเป็นเลิศทางด้านการเงิน (Financial Excellence) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการประกอบธุรกิจ ปตท. ยังคงยึดมั่นพันธกิจในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางพลังงานให้แก่ประเทศ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง บนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี
โดยปตท.ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน จากนิตยสารฟอร์จูน เซาท์อีสต์เอเชีย 500 (Fortune Southeast Asia 500) รวมทั้งได้รับ 4 รางวัลดีเด่นในระดับภูมิภาคอาเซียน จาก 14th Institutional Investor Corporate Awards 2024 และได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย (CAC) 4 สมัยต่อเนื่อง
พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของประเทศ โดยให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาจำนวน 20 สมาคม ภายใต้งบประมาณ 200 ล้านบาท ส่งเสริมศักยภาพคนไทยสู่สากล ตลอดจนดำเนินโครงการเพื่อสังคมและกิจกรรม เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในปีมหามงคลนี้ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่กำแพงเพชร 6 ริมคลองเปรมประชากร จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ จำนวน 10 ไร่ เปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ การผลิตหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำเสนอโครงการตามพระบรมราโชบายพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน จำนวน 2 เรื่อง โดยมีแผนเผยแพร่อีก 5 เรื่องภายในปีนี้
พร้อมทั้งจัดกิจกรรมแสดงแสง สี เสียง ลำนำนที วารีสมโภช ณ สวนสันติชัยปราการ รวมถึงกิจกรรมปลูกป่า 72,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 68,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืนโดยพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา
“ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ยึดมั่นภารกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” นายคงกระพัน กล่าว