ผู้ชมทั้งหมด 462
“ส.ก. เพื่อไทย” บุกคมนาคม ยื่นหนังสือถึง “มนพร” หนุนย้ายท่าเรือกรุงเทพ ลั่น! เป็นความหวังของคนกรุงฯ ช่วยแก้ปัญหาจราจร – ลดฝุ่น PM 2.5 เร่งพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ช่วยยกระดับเมือง ด้าน “มนพร” ยันเดินหน้าทุกโครงการ คำนึงถึงประโยชน์ประชาชน –ประเทศชาติเป็นสำคัญ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้ยื่นหนังสือเพื่อแสดงความเห็นด้วยให้ย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่เดิม หลังจาก ส.ก. ได้รับเรื่องจากประชาชนที่สนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อีกทั้งยังสามารถพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินการจัดทำแผนต่าง ๆ และจัดทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด พร้อมเน้นย้ำว่า ในทุกกระบวนการ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมดำเนินการในทุกเรื่องโดยคำนึงถึงพี่น้องประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ
ด้านนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ตน และ ส.ก. 4 ท่านได้เข้ามายื่นหนังสือกับนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ กทท. ต้องดำเนินการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่เดิมในปัจจุบันไปอยู่พื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากพื้นที่เดิม อยู่ใจกลางเมือง ส่งผลกระทบให้ประชาชนที่เดินทางต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัดจากรถขนส่งที่ต้องเข้า-ออกพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) โดยเฉพาะช่วงเวลาเดินทางไปทำงานที่อาจจะต้องเสียเวลาในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งพื้นที่เดิมของท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น มองว่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้อย่างมหาศาล ซึ่งมีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก และ ส.ก. พร้อมให้ความร่วมมือทุกๆ ด้านของกระบวนการ
“ผม และ ส.ก.พรรคเพื่อไทย ต้องการให้กระทรวงคมนาคม โดยการท่าเรือฯ ที่ถือว่าเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯ พิจารณาเดินหน้าให้ย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากพื้นที่เดิม ผมมองว่า เอาไปพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่น ๆ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประชาชนทั่วไปได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่พักอาศัย, คอมมูนิตี้มอลล์, แหล่งท่องเที่ยวหรือแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ส่วนท่าเรือฯ ควรไปอยู่ที่อื่น เพราะถ้าอยู่ที่เดิม จะกระทบกับประชาชน ถ้าอยู่ที่ใหม่ เชื่อว่า จะแก้ปัญหารถขนส่งเข้ามาในเมือง ทำให้การจราจรติดขัด ที่สำคัญยังช่วยลดฝุ่นละอองได้อีกด้วย และจะทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี” นายกิตติพงศ์ กล่าว
นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามข้อมูลของ กทท. พบว่า การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ขนาดพื้นที่ 2,353.2 ไร่ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้มีมาตรฐาน สร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเสมอภาคในสังคม ตามยุทธศาสตร์ชาติต้านการสร้างโอกาสและความสมอภาคทางสังคม เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าว จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษกรุงเทพมหานคร (Bangkok Special Economic Zone) เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือประโยชน์ในเชิงสาธารณะด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองท่าที่ทันสมัย (New City Port) โดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก ในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าว โดยการบูรณาการด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการให้บริการแบบครบวงจรในพื้นที่เดียวกัน
นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยแนวสูงและศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนคลองเตย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบท่าเรือ รวม 26 ชุมชน และใต้ทางด่วนอีก 5 ชุมชน ประมาณ 13,000 ครัวเรือน และหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ของ กทท.โดยจัดพื้นที่บางส่วนสำหรับเป็นพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูง (Smart Community) ขณะเดียวกัน มีแผนจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพในพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ซึ่งเป็นตลาดแรงงานสำคัญของเมืองหลวง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวชุมชนคลองเตย โดยมีการบริหารจัดการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ทันสมัย รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย
รายงานข่าวจาก กทท. ระบุว่า กทท. มีแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A ได้แก่ อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน Retail Mixed Use โครงการที่พักอาศัย Medical Hub อาคารสำนักงาน Smart Community อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงาน กทท. อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า 2. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B ได้แก่ Smart Port (ท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ) ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง (20G) 3. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C ได้แก่ พื้นที่ Cruise Terminal, Retail Mixed use อาคารสำนักงาน พื้นที่พาณิชย์ Duty Free โรงแรม ศูนย์อาคารแสดงสินค้า อาคารสาธารณูปโภค อาคารจอดรถ ศูนย์ฝึกอบรม 4. กลุ่มพื้นที่รองรับในการพัฒนาในอนาคต X ได้แก่ พื้นที่คลังเก็บสินค้า และสำนักงาน E- Commerce พื้นที่จอดรถบรรทุก พื้นที่ ปตท. เช่าใช้ และ 5. กลุ่มพัฒนาพื้นที่ G ได้แก่ Sport Complex การปรับปรุงสถาปัตยกรรมของพื้นที่ทั้งหมด สวนสาธารณะ เป็นต้น