ผู้ชมทั้งหมด 177
ครบรอบ 13 ปีสำหรับโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ล่าสุดได้มีการจัดพิธีรับตราพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปีการศึกษา 2566 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2567 โดยมีเครือข่าย และโรงเรียนทั่วประเทศที่ผ่านการประเมินเข้ารับตราพระราชทาน คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท บี.กริม ผู้สนับสนุนโครงการ ได้รับเกียรติเป็นผู้กล่าวต้อนรับเพื่อเปิดงานพิธีรับตราพระราชทาน ในวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี
ปัจจุบันโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้ขยายผลกว่า 39,835 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 456 แห่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมา โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เปิดโอกาสให้โรงเรียน หน่วยงาน รวมถึงองค์กรทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่มีความพร้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อส่งเสริมการวางรากฐานทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้ต้นแบบมาจาก Stiftung Haus der kleinen Forscher (สติฟตุ้ง ออส เดอ ไคลเน่น โฟเขอร์) หรือ มูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี โดยได้รับความร่วมมือจาก 8 องค์กรหลักในประเทศไทย ได้แก่ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กลุ่มบริษัท บี.กริม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปีนี้โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ครบรอบ 13 ปี บริบูรณ์ โครงการได้ขยายเครือข่ายในระดับปฐมวัย จำนวน 39,835 โรงเรียน ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 257 แห่ง และเริ่มขยายผลสู่ระดับประถมศึกษาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 13,460 โรงเรียน ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 199 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งปรากฎผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ คือ ครูและเด็กสนใจและสนุกกับกิจกรรมวิทยาศาสคร์อย่างมาก
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริม กริม ซึ่งเป็น 1 ในภาคี ผู้สนับสนุนโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” โดยมิติในด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม นับเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญสูงสุดของ บี.กริม ที่สอดคล้องตามหลักปรัชญา “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี” ที่บริษัทดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชน
สิ่งหนึ่งที่เล็งเห็นคือ ปัจจุบันบุคลากรที่มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Mathematics: STEM) ยังคงมีอยู่จำกัด ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่ง ในทักษะที่จำเป็นต่อ การเติบโตของอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นทักษะที่สำคัญใน การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น นอกจากการพัฒนาสังคม และส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชนแล้วเรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะดังกล่าวให้แก่นักเรียน นักศึกษาเพื่อร่วมกันส่งเสริม เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง
“เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการวางรากฐานทักษะการเรียนรู้ด้าน STEM โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้แก่นักเรียนระดับปฐมวัยและประถมศึกษา 400,000 คน ภายในปี 2573 ผ่านโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553”
ทั้งนี้ บี.กริม เล็งเห็นถึงความสำคัญและส่งเสริมการพัฒนาการทักษะด้าน STEM ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน โดยผ่านโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และ โครงการ B.Grimm BIP School Camp รวมถึงระดับอุดมศึกษา โดยผ่านโครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี โครงการ Harbour.Space และโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ