BTS  5 ปีแบกภาระหนี้สายสีเชียวส่วนต่อขยาย 3.9 หมื่นล้าน มั่นใจกทม.คืนหนี้ได้ภายใน 180 วัน

ผู้ชมทั้งหมด 236 

BTS ชี้ 5 ปีแบกภาระหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเชียวส่วนต่อขยายกว่า 3.9 หมื่นล้าน เชื่อมั่นกทม.ชำระหนี้คืนได้ภายใน 180 วัน หลังศาลสูงสุดตัดสินชนะคดีหนี้ก้อนแรก 1.2 หมื่นล้าน ส่วนสัมปทานเดินรถ ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินต้องพิจารณาให้รอบครอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) โดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และพ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ได้ร่วมกันแถลงการณ์ถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่ – บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (เดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท 

นายคีรี ระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ กทม. และ KT ไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดินรถให้กับบีทีเอส ซึ่งก็ได้พยายามเจรจามาโดยตลอดแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนถึงปีที่ 3 จึงเริ่มสู่ขบวนการทางกฎหมาย ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาบีทีเอสต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นค่าพนักงาน ค่าไฟ และค่าดอกเบี้ยจ่ายเงินต้น และเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้บีทีเอสชนะคดีก็ทำให้ตนโล่งอกที่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงจนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง บีทีเอสทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน รับทราบมาโดยตลอด และ ณ วันนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความพยายามที่บีทีเอสทำมาตลอดนั้นไม่สูญเปล่า และยังเป็นการยืนยันคำพูดของตนว่า บีทีเอสทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ตนย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอน

บีทีเอสเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นตนต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้โดยสาร ที่ตนยืนยันเสมอมาว่าจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอนที่สำคัญคำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป ทั้งนี้ในเบื้องต้นบีทีเอสได้รับทราบจากข่าวของสื่อมวลชน ว่า กทม. พร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีบีทีเอสก็อยากให้กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วยเนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

โดยหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนรวมกว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลา คม 2565) เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

ยอดหนี้ที่บีทีเอสยังไม่ได้ยื่นฟ้อง ซึ่งเป็นค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท นอกจากนี้แล้วยังมีค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคตอีก ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี 2585

อย่างไรก็ตาม บีทีเอส พร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ทั้งนี้ หากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่น ๆ ที่อยากให้พิจารณา บีทีเอสพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการชำระหนี้ให้กับบีทีเอสจะแบ่งการชำระเป็นงวดๆ ก็ได้ แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้จ่ายคืนเป็นก้อนเดียวเลย และภายหลังจากได้เงินบีทีเอสจะนำมาต่อยอดในการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าใหม่ เพราะในปัจจุบันเปิดให้บริการมาเกิน 30 ปีแล้ว อยากจะปรับปรุงให้เกิดความทันสมัย

“ตนรู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ เพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด ฉะนั้นสิ่งที่เราทำมา หรือสิ่งที่ตนเคยพูด พวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชนอย่างเรา ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว” นายคีรี กล่าว

นายคีรี กล่าวอีกว่า กทม. และ KT มีเวลา 180 วันในการเจรจาในรายละเอียด ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ กทม. และ KT ชำระหนี้มาเป็นก้อนเลยทีเดียว ยอดหนี้ที่ค้างชำระหากมีการชำระมาภายใน 180 วัน หรือว่าเร็วกว่านี้ก็จะทำให้ดอกเบี้ยลดลง โดยอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาอยู่ที่ 8.05% ต่อปี หรือคิดเป็นดอกเบี้ยไม่ทบต้นประมาณ 7 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อปี

ต่อข้อซักถามว่า สัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช, สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2572 ทางบีทีเอสยังสนใจที่จะขยายสัญญาสัมปทานตามสิทธิ์หรือไม่ นายคีรี กล่าวว่า ต้องพิจารณาบนพื้นฐานความจริงของภาวะเศรษฐกิจ และต้องพิจารณาถึงบริบทการใช้รถไฟฟ้าในปัจจุบันด้วยเพราะมีการทำงานที่บ้านกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามระบบรถไฟฟ้าก็เป็นระบบรางที่แก้ไขการจราจรที่ดีที่สุด ดังนั้นก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบครอบก่อนว่าจะต้องขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทราบว่าในขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารูปแบบบริหารโครงการในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยหากได้เอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารโครงการ ก็ต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ที่ระบุว่าต้องจ้างบีทีเอสเดินรถตลอดแนวเส้นทางสายสีเขียวประมาณ 60 กิโลเมตรจนครบอายุสัญญาในปี 2585