“ปตท.” แบกส่วนต่างราคา “NGV” ช่วย “กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” ต่อเนื่อง

ผู้ชมทั้งหมด 712 

เทรนด์การใช้พลังงาน ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยหลายประเทศทั่วโลก กำลังมุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ส่งผลให้ยายนต์ไฟฟ้า(EV) ที่เป็นนวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีจุดเด่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนน้ำมัน ทำหในอนาคต รถEV จะมีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น

รัฐบาลไทย จึงได้กำหนดนโยบาย 30@30 หรือ มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมตั้งเป้าหมายให้ภายในปี ค.ศ. 2530 การผลิตยานยนต์ในประเทศจะต้องเป็น EV อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว และทิศทางการใช้พลังงานของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต กระทรวงพลังงาน จึงเตรียมปรับนโยบายด้านพลังงานของประเทศใหม่ โดยใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ที่คาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2567 โดยกำหนดให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดตั้งแต่ปี 2567-2575 พร้อมสนับสนุนเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะ เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนรถที่ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) และ NGV ดั้งเดิม ตามนโยบาย 30@30 ที่จะต้องดำเนินการภายในปี 2567-2580

ย้อนไปราว 15 ปีก่อนรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซNGV ในประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงในขณะนั้น โดยเปิดให้มีการจำหน่ายผ่านสถานีบริการ(ปั๊ม)NGV ซึ่งในช่วงที่ได้รับความนิยมใช้สูงสุด ได้มีการลงทุนจัดตั้งปั๊ม NGV มากกว่า 500 สถานีทั่วประเทศ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ความนิยมใช้ก๊าซNGV ได้ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายหันไปส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ทำให้ปัจจุบัน เหลือปั๊ม NGV อยู่ประมาณ 343 สถานี มีปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 3,472 ตันต่อวัน

อีกทั้ง นโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซNGV ในอดีตยังมีการกำหนดตรึงราคาเอาไว้ในระดับเฉลี่ย 8 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนทยอยปรับขึ้นราคาจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 20 บาทต่อถังกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยรัฐบาลกำหนดให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแบกรับภาระส่วนต่างราคามาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมที่เคยช่วยรับภาระไปไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ยอดการใช้ก๊าซNGV ลดลงไปมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สามารถยกเลิกการจำหน่ายได้ในทันที เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถNGV ที่ยังไม่มีกำลังในการปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ประเภทอื่นแทน และแม้ว่า ปตท.จะทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซNGV สำหรับผู้ใช้รถทั่วไป แต่ในส่วนของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ปตท.ยังคงทำหน้าที่แบกรับภาระส่วนต่างราคาต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 ปตท. ได้ประกาศปรับขึ้นราคาNGV ทั่วไป อีก 40 สตางค์ต่อกิโลกรัม เป็น 18.55 บาทต่อกิโลกรัม จากเดือนที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 18.15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อสะท้อนกลไกราคาตลาด โดยมีผลระหว่างวันที่ 16 ก.ค.-15 ส.ค. 2567 ซึ่งในส่วนของราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป ทาง ปตท.จะพิจารณาราคาทุกๆ 1 เดือน

โดยในช่วง 6 เดือนของปี 2567 พบว่า ปตท. ได้เริ่มปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปตามกลไกราคาตลาด ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 จากราคาเคยปรับสูงสุดอยู่ที่ 19.59 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน มี.ค. 2567 และเคยต่ำสุดอยู่ที่ 18.15 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน มิ.ย.- 15 ก.ค. 2567

ขณะที่ ราคา NGV ใน “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน ยังขอความร่วมมือ ปตท. ให้จำหน่ายในราคาถูกต่อไปก่อน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มรถโดยสาร เบื้องต้นโครงการดังกล่าวจะช่วยเหลือราคา NGV ให้ผู้ร่วมโครงการฯ เป็นเวลา 2 ปี หรือสิ้นสุดใน ธ.ค. 2568

โดยที่ผ่านมา ปตท. กำหนดราคาจำหน่าย NGV ในโครงการฯ ไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย. 2567) จากนั้น ปตท. ได้พิจารณาปรับขึ้นราคา NGV สำหรับรถโดยสารธารณะเมื่อ 15 ก.ค. 2567 เป็นดังนี้

1. รถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ หมวด 1 และหมวด 4 (ไม่รวมรถ ขสมก.) ปรับราคาขึ้นจาก 14.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และล่าสุด ปตท. ได้ประกาศตรึงราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม อีก 1 เดือน ระหว่าง 16 ก.ค.-15 ส.ค. 2567 

2. รถโดยสารสาธารณะ หมวด 2 และหมวด 3 ราคาปรับขึ้นจาก 18.15 บาทต่อกิโลกรัม  เป็น 18.55 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นราคาที่เท่ากับราคา NGV ทั่วไป 18.55 บาทต่อกิโลกรัม) แต่ในส่วนนี้กำหนดตรึงราคาไม่เกิน 18.59 บาทต่อกิโลกรัม

ปตท. ยังกำหนดราคาสำหรับรถบรรทุก ที่เติมก๊าซ NGV ที่สถานีฯ แนวท่อ และสถานีฯ นอกแนวท่อ ใน “โครงการส่งเสริมความปลอดภัยใช้ NGV” โดยกำหนดปรับขึ้นราคาจาก 18.15 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 18.55 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นราคาที่เท่ากับราคา NGV ทั่วไป 18.55 บาทต่อกิโลกรัม)

ทั้งนี้ ในส่วนของราคา NGV สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ใน“โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” นั้น ทางกระทรวงพลังงาน ยังคงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ช่วยตรึงราคาไปก่อน แต่ในส่วนของราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปนั้น ทาง ปตท. สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ตามกลไกตลาดที่แท้จริง เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาการขายขาดทุนสูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (1 พ.ย. 2564 – 30 พ.ย. 2566) ปตท.ช่วยลดราคา NGV ให้ประชาชน และต้องแบกรับภาระมาแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท

แม้ว่าภาครัฐจะเข้าใจถึงการแบกรับภาระต้นทุนก๊าซ NGV ที่ผ่านมา จนมีนโยบายให้ทยอยปรับราคาได้นั้น แต่จะเห็นว่าปัจจุบัน ปตท. ก็ยังคงเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าดูแลส่วนต่างราคาสำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ที่ยังคงเติมก๊าซNGV ในราคาที่ถูกกว่ารถยนต์ทั่วไทย ก็เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานให้กับกลุ่มคนเปราะบางต่อไปตามนโยบายของรัฐ