ผู้ชมทั้งหมด 258
ครม. ไฟเขียว BEM ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เตรียมลงนามสัญญาวันที่ 18 ก.ค.นี้ พร้อมเร่งรัดเอกชนเปิดให้บริการฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรีภายใน ม.ค. 71 เร็วขึ้นกว่าแผนที่กำหนดไว้ ยันประชาชนได้ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (16 กรกฎาคม 2567) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ง ประเทศไทย (รฟม.) จะจัดพิธีลงนามในสัญญาร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ชนะการประมูล โดยในพิธีดังกล่าว จะมีตนเป็นประธานในพิธีลงนามฯ
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ รฟม. เร่งรัดเอกชนให้เร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น และเป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร (กม.) ภายในเดือนมกราคม 2571 ซึ่งจะเร็วขึ้นกว่าเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2571 ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2573 อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า จะเข้าร่วมมาตรการค่ารถโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายด้วย
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังจาก ครม. ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของ รฟม. โดยมี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือกที่เสนอผลประโยชน์สุทธิต่อรัฐต่ำที่สุด โดยขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาพร้อมดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นวงเงินรวม 95,432.04 ล้านบาท และเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. เป็นวงเงินรวม 10,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญาร่วมลงทุน
นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเจรจากับ BEM จนได้ผลการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชน โดย BEM เสนอที่จะลดอัตราค่าโดยสารเป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ กว่า 13,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายหลังจาก ครม.ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม. จะได้มีหนังสือแจ้งให้ BEM มาลงนามในสัญญาร่วมลงทุน โดยมีกำหนดที่จะลงนามสัญญาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 และภายหลังจากกระบวนการลงนามสัญญาแล้วเสร็จ รฟม.จะมีหนังสือเพื่อแจ้งให้ BEM เริ่มงานก่อสร้าง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่าง กรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”