ผู้ชมทั้งหมด 202
“สุริยะ” ลั่นเร่งดันอุตสาหกรรมการบินของไทยเป็นฮับการบินภูมิภาค AOT มั่นใจปีที่ 45 รายได้โตใกล้เคียงปี 62 เหตุตัวเลขเทรนด์การเดินทางฟื้นตัวเทียบเท่าก่อนโควิด-19 เชื่อก้าวสู่ปีที่ 46 อย่างมั่นคง คาดปีหน้สผู้โดยสารแตะ 140 ล้านคน
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการเปิดงาน Dinner Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี การดำเนินงานของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ AOT นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยนายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision โดยมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค โดยยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) นั้น รัฐบาลจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรของประเทศไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก แต่มีผู้เดินทางจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก โดยสถิติตัวเลขผู้โดยสารใน 5 เดือนแรกของปี 67 ตั้งแต่เดือนม.ค.- พ.ค.ที่ผ่านมามีผู้เดินทางเข้า – ออกผ่านท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยประมาณ 52.16 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20.28% เมื่อเทียบกับปี 66 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศกว่า 32.05 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่เยอะมากที่จะช่วยนำเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ ผู้โดยสารสัญชาติหลัก ๆ ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนไทยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร เนื่องจากรายได้หลักของคนไทยมาจากการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมให้ความสําคัญและเร่งรัดดําเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีโดยนำวิสัยทัศน์และนโยบายดังกล่าว มาจัดทำเป็นแผนดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ควบคู่กับการยกระดับท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้กลับไปติด 1 ใน 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองคว้าอันดับ 1 ใน 10 สนามบินโลว์คอสที่ดีสุดในโลก
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า หวังว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆ จะร่วมกันผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้ไปถึงเป้าหมายการเป็นฮับการบินของภูมิภาค โดยเฉพาะ AOT ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในการรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมทางอากาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต
ด้านนายกีรติ กล่าวว่า ในปี67 นี้นับเป็นปีสำคัญในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และจะเป็นก้าวสู่ปีที่ 46 อย่างมั่นคง จากตัวเลขและเทรนด์การเดินทางของผู้โดยสารที่จะกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือช่วงปี 62 โดยคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 67 จำนวนผู้โดยสารจะไปจบที่ 120 ล้านคน เพราะแค่ช่วง3ไตรมาสแรกก็มีผู้โดยสารมากถึง 80 ล้านคนแล้ว จึงมั่นใจว่าไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน เนื่องจากสัดส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยฉพาะผู้โดยสารที่มาจากประเทศแถบยุโรป อเมริกา และอินเดีย ซึ่งรวมกันก็มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 62 แล้ว จึงสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินในภาพรวมโดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศได้ฟื้นตัวกลับมาแล้ว ขณะที่ตลาดจีนนั้นก็ยังเป็นตลาดที่ยังสามารถฟื้นกลับมาได้ แม้ว่าเวลานี้ตัวเลขผู้โดยสารจีนที่เข้ามายังประเทศไทยยังอยู่ที่ 65% เมื่อเทียบกับปี 62 แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะทำให้ผู้โดยสารจีนอีก 35% กลับมาเที่ยวที่ไทยอย่างแน่นอน และจะส่งผลให้ไทยมีจำนวนผู้โดยสารแตะที่ 140 ล้านคนในปี 68
สำหรับรายได้ของ AOT นั้นในช่วง 6 เดือนแรกของ ปี 67 มีรายได้แล้วเกินกว่า 30,000 ล้านบาท จึงค่อนข้างมั่นใจว่าตลอดทั้งปีจะสามารถทำรายได้และทำกำไรให้เป็นไปในทิศทางที่ดีได้ ทั้งนี้ AOTยัง คาดการณ์ว่า หากเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.จะทำให้ในปี 68 มีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 75 เที่ยวบิน มีรายได้เพิ่ม 4,718.24 ล้านบาท ปี 69 จะมีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 85 เที่ยวบิน มีรายได้เพิ่ม 8,561.54 ล้านบาท และปี 70 จะมีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 94 เที่ยวบิน และมีรายได้เพิ่ม 9,090.52 ล้านบาท