ผู้ชมทั้งหมด 309
กรมธุรกิจพลังงาน โชว์ ข้อมูลการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 5 เดือนแรก ปี67 (ม.ค.-พ.ค.) หดตัว 0.4% ตามการลดลงของ เบนซิน น้ำมันเตา และNGV ขณะที่ น้ำมันเครื่องบิน โต 17.9% รับการฟื้นตัวฤดูกาลท่องเที่ยว มาตรการรัฐฟรีวีซ่า ให้ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศ ส่วนดีเซล พุ่ง 3.2%
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 5 เดือนแรกปี 2567(มกราคม – พฤษภาคม) อยู่ที่ 157.13 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.4 โดยน้ำมันเตามีการใช้ลดลงร้อยละ 21.6 NGV ลดลงร้อยละ 16.6 และน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 1.0 ขณะที่การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.59 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.00 โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.42 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.48 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.46 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.83 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ณ สถานีบริการ เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 69.30 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 มาอยู่ที่ 69.14 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.8 มาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.08 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.9 โดยมีปัจจัยจากการฟื้นตัวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับการสนับสนุนของรัฐบาล มีมติเห็นชอบให้ปรับมาตรการอนุญาตให้ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศ เดินทางเข้าราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน) คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
การใช้ LPG เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 18.01 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.8 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของภาคปิโตรเคมี ร้อยละ 9.3 มาอยู่ที่ 8.03 ล้านกก./วัน ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 มาอยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน โดยปริมาณการใช้ LPG มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานของภาคปิโตรเคมี ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.4 มาอยู่ที่ 1.96 ล้านกก./วัน และภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.4 มาอยู่ที่ 5.71 ล้านกก./วัน ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2567
การใช้NGV เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.91 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.6 ทั้งนี้ ปตท. มีมติเห็นชอบแผนช่วยเหลือราคา NGV ในระยะ 2 ปี โดยช่วงแรก (มกราคม – มิถุนายน 2567) ปตท. ลดราคา NGV ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ฯ ที่ 14.62 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ สำหรับผู้สมัครใหม่เริ่มมีผลกุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกำหนดราคาขายปลีก NGV กลุ่มผู้ใช้รถทั่วไปไม่เกิน 19.59 บาท/กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่ มกราคม ถึง มิถุนายน 2567)
ขณะที่ การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,046,365 บาร์เรล/วัน ลดลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,970 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ อยู่ที่ 986,155 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 1.7 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 95,166 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 60,210 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 21.0 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,804 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 155,148 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,163 ล้านบาท/เดือน