ผู้ชมทั้งหมด 792
กระแสการเปลี่ยนผ่านจาก “พลังงานเชื้อเพลิงดั้งเดิม” ไปสู่การใช้ “พลังงานสะอาด” ในอนาคต ทำให้ “ก๊าซธรรมชาติ” กลายเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ด้วยวิสัยทัศน์และประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานที่เข้าไปดำเนินการใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
“บ้านปู” เล็งเห็นโอกาสความสำคัญของก๊าซธรรมชาติที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต จึงนับเป็นบริษัทไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ยังต่อยอดไปยังธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงโครงการการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCUS (Carbon Capture, Utilization and Sequestration) เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคงและตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืนโดยสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจพลังงาน และบ้านปู นับเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ริเริ่มโครงการ CCUS ในประเทศยุทธศาสตร์อย่างสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จตั้งแต่ปี ค.ศ. 2023
ปัจจุบัน บ้านปู ดำเนินโครงการ CCUS จำนวน 2 โครงการในสหรัฐฯ ได้แก่ โครงการแรก “Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่)” มีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุด 210,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เปรียบเทียบแล้วเท่ากับโครงการ CCUS นี้ สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการใช้รถยนต์ได้ถึง 40,000 คัน ต่อวัน
โครงการที่สอง “Cotton Cove (คอตตอน โคฟ)” มีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุดที่ 45,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยโครงการนี้จะช่วยแยก กำจัด และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลพลอยได้ (byproduct) จากการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ อีกทั้งยังมีโอกาสนำไปต่อยอดเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นธุรกิจกลางน้ำของกลุ่มบ้านปูอีกด้วย
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของโครงการที่มีในปัจจุบันและโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา เช่น โครงการ High West (ไฮเวสต์) ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ มีแผนจะบรรลุเป้าหมายกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ประมาณ 30 ล้านเมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีภายในทศวรรษ 2030
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หมุดหมายหลักในการนำธุรกิจของบ้านปูเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Sustainable Energy Transition) จะให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการสร้างรายได้ที่มั่นคงและการส่งมอบพลังงานที่มีความรับผิดชอบต่อโลก และในฐานะที่ บ้านปู เป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติชั้นนำ 20 อันดับแรกในสหรัฐฯ และผู้พัฒนาโครงการ CCUS เชิงพาณิชย์ถาวรโครงการแรก ๆ ในสหรัฐฯนั้น โครงการ CCUS จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจและสร้างกระแสเงินสดให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงการ CCUS จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้บ้านปูบรรลุเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนฯ พร้อมด้วยศักยภาพที่จะสามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของบริษัทฯ ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
ผลักดันเป้าหมายในการลดคาร์บอน (Decarbonization) ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างยั่งยืน: การนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ นอกจากจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจของบ้านปูในสหรัฐฯ แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยมลสารในกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืนหรือ ESG (Environmental, Social, and Governance)
สร้างรายได้เพิ่มในระยะยาว: เทคโนโลยี CCUS ช่วยแยก CO2 ออกจากก๊าซที่ผลิตได้ก่อนส่งเข้าระบบท่อขนส่ง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon-Sequestered Gas หรือ CSG) ซึ่งถือเป็นก๊าซธรรมชาติระดับพรีเมียม และสามารถขายให้กับลูกค้าที่มีความต้องการพลังงานสะอาดที่สามารถจ่ายในราคาที่สูงขึ้นได้ โดย CSG จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลระบบบล็อกเชนและแปลงสภาพเป็นโทเคน ทำให้โทเคนเหล่านี้ถือเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอก และสามารถโอนเปลี่ยนมือได้พร้อมกับการขายก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทฯ ยังสามารถขยายการให้บริการแยกและกักเก็บคาร์บอนให้กับบริษัทและธุรกิจอื่น ๆ ได้
ผสานพลังร่วมในอนาคตกับธุรกิจไฟฟ้า: CCUS เป็นเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการลดการปล่อย CO2 จากการดักจับและกักเก็บ CO2 สามารถนำไปต่อยอดใช้ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่อยู่ในระบบนิเวศธุรกิจของกลุ่มบ้านปูและโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ได้ในอนาคตอันใกล้
“บ้านปู” เชื่อมั่นว่า ด้วยความใส่ใจในบทบาทการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูจึงตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ Scope 1 และ 2 ภายในปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ Scope 3 ภายในทศวรรษ 2030