กทพ. จับมือ กฟน. เล็งลงทุนระบบสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ โซลาร์รูฟท็อป อีวี ชาร์จเจอร์ ลดค่าไฟ 20%

ผู้ชมทั้งหมด 296 

กทพ. จับมือ กฟน. ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ลุยติดโซลาร์รูฟท็อป อีวี ชาร์จเจอร์ อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ใต้ทางด่วน ติดตั้งระบบสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ภายในอาคาร คาดช่วยประหยัดค่าไฟไม่ต่ำกว่า 20%  

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ระหว่าง กทพ. และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นั้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าในอนาคตระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าภายในอาคารสำนักงานใหญ่ อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษกทพ. อาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษ อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ระบบไฟฟ้าส่องสว่างทางพิเศษ

รวมถึงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการต้านพลังงานทดแทน เช่น การเปลี่ยน โคมไฟชนิด LED ทดแทนโคมไฟแบบเดิม การเปลี่ยนและบำรุงรักษาระบบปรับอากาศเป็นชนิดประหยัดพลังงาน การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) การติดตั้ง EV charger โดยจะพิจารณาเลือกติดตั้งในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษกทพ. อาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษ อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ อย่างไรก็ตามการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานกับกฟน. นั้นยังไม่ได้สรุปว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ และจะต้องร่วมการลงทุนอย่างไร ซึ่งต้องไปสรุปรูปแบบการลงก่อน

“ที่ผ่านมากทพ. ได้ในกฟน.ติดตั้ง Solar Rooftop ให้ในพื้นที่ของสำนักงานใหญ่ประมาณ 780 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 37 ล้านบาท ความร่วมมือในครั้งจึงเป็นการต่อยอดในการติดตั้งระบบ Smart Energy ภายในอาคาร และขยายการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ ของกทพ. ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง EV charger ตามจุดพักรถทางด่วน ด่านเก็บค่าผ่านทาง และพื้นที่ใต้ทางด่วน ซึ่งต้องศึกษาในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อไป”  

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า กฟน.จะร่วมศึกษาและพัฒนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า เทคโนโลยี พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดภายในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทพ. และให้การสนับสนุน นำเสนอเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานตั้งแต่การให้ความรู้ในหลักวิชาการ การสำรวจ ออกแบบ ลงทุน ดำเนินการติดตั้ง รวมถึงการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน ความร่วมมือในการพัฒนาและบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการร่วมพัฒนาเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์คุณภาพการศึกษาและศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์พลังงาน อย่างไรก็ตามหากดำเนินการลงทุนได้ทั้งโครงการคาดว่าจะช่วยให้ กทพ. เกิดผลประหยัดค่าไฟฟ้าได้อย่างน้อย 20% ต่อปี