กรมธุรกิจฯ ชี้ ร่างแผน Oil Plan 2024 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1.13 แสนลบ.

ผู้ชมทั้งหมด 312 

กรมธุรกิจพลังงาน ชู ร่างแผน Oil Plan 2024 หนุนลทุนกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 113,000 ล้านบาท สร้างรายได้เกษตรกร 41,500 ล้านบาท/ปี ช่วยชาติประหยัดนำเข้าน้ำมันดิบ 59,000 ล้านบาท/ปี ย้ำหนุนใช้ ดีเซล(B7) เป็นน้ำมันพื้นฐาน ส่วนกลุ่มเบนซิน ยังต้องหารือว่าจะเป็น E10 หรือ E20  

วันนี้(28 มิ.ย.2567) กรมธุรกิจพลังงาน จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อ (ร่าง) แผนการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567-2580 (Oil Plan 2024) ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบการปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting และ Facebook Live) มีผู้ให้ความสนใจจากองค์กรภาครัฐเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศร่วมรับฟังทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์มากกว่า 300 คน อีกทั้ง กรมธุรกิจพลังงาน ยังได้เปิดรับความคิดเห็นเพิ่มเติม ผ่านช่องทางแบบสอบถามออนไลน์ (Google Forms) และอีเมล Oilplan2024@gmail.com ตั้งแต่วันนี้ – 12 กรกฎาคม 2567 ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด นำไปประกอบการปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

โดยเนื้อหาในการจัดทำแผนนำมาสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็น “(ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024)”  ในครั้งนี้ได้นำเสนอข้อมูลถึงแนวโน้ม และทิศทางความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโลก ที่มีแนวโน้มลดลงในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ที่ส่งผลให้ Oil Peak demand ของประเทศไม่เกินปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) แต่น้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะในภาคขนส่ง จึงได้วางกรอบการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้วิสัยทัศน์ “ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานด้วยความมั่นคง และยกระดับธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Transitioning with security and competitiveness)”

สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงกรมธุรกิจพลังงานได้วางแผนทบทวนรูปแบบและอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม รวมถึงจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ

2. ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เพื่อบริหารจัดการอุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลง บนเงื่อนไขที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่สามารถอุดหนุนราคาได้ในอนาคต มีราคาเหมาะสม และสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จึงได้กำหนดแนวทางดำเนินการ ดังนี้

– ภาคขนส่งทางบก : ปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลและกำหนดให้มีเบนซินฐานที่เหมาะสมกับประเทศ  นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบและมาตรฐานเพื่อกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้ในภาคขนส่งที่คาดว่าจะพร้อมใช้เชิงพาณิชย์ในอนาคต

– ภาคขนส่งทางอากาศ : ส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบิน มุ่งใช้ศักยภาพวัตถุดิบจากในประเทศ เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (used cooking oil : UCO) น้ำมันปาล์มดิบ เอทานอล คาดว่าจะสามารถเสนอให้เริ่มมีสัดส่วนการผสม SAF ที่ 1% ในปี พ.ศ. 2569

– ภาคขนส่งทางน้ำ : ส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อาทิ น้ำมันเตากำมะถันต่ำที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (B24 VLSFO) ซึ่งปัจจุบันที่ตลาดสิงคโปร์มีการซื้อขาย B24 (ผสมเชื้อเพลิงชีวภาพ 24%)

3. ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงานได้วางแนวทางปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย การกำกับดูแลการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นน้ำมัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการคลังน้ำมัน  ผลักดันการขนส่งน้ำมันทางท่ออย่างเต็มประสิทธิภาพ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต เพื่อส่งเสริมการผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  กรมธุรกิจพลังงานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่สำหรับขับเคลื่อนในระดับนโยบายประเทศ ประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเคมีพลาสติกชีวภาพ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ พร้อมเสนอกลไกการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในช่วง 2 ปีนี้ สถานการณ์การใช้น้ำมันของประเทศไทยจะยังเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนและต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากการเข้ามาของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่ในปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคัน แม้ว่าปีนี้ยอดจดทะเบียนจะลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาว รถEVจะเติบโตมากขึ้น

อีกทั้ง ยังมีปัจจัยเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสถานะติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท และตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซล ภายในวันที่ 24 ก.ย. 2567 แต่ยังสามารถผ่อนผันได้อีก 2 ปี หรือ ไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น กองทุนน้ำมันฯ จะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้แล้ว ทางกระทรวงพลังงาน จึงต้องกำหนดแผนว่าจะดูแลผู้ประกอบการเอทานอลและไบโอดีเซลอย่างไร โดยเบื้องต้นได้เตรียมแนวทางผลักดันได้สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตดุดิบ แต่ก็ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ทันภายใน 2 ปีนี้ ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ แต่หากเกิดขึ้นไม่ทันผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ก็อาจทยอยล้มหายตายจากไป ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายและผู้ประกอบการจะต้องหาทางออกร่วมกัน

นอกจากนี้ ในร่างแผน Oil Plan 2024 ยังต้องพิจารณาเรื่องการขนส่งทางท่อ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนและใช้งาน และหากมีการตบรับที่ดี ในอนาคตก็อาจขยายการขนลงไปยังหนองคาย และประเทศลาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดเป็น Single Platform หรือ แพลตฟอร์มการขนส่งแบบไร้รอยต่อ

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของ SPR หรือ คลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญ และมีเป้าหมายที่จะกำหนดให้สำรองน้ำมันฯ อยู่ที่ 90 วัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่อว่า จะหางบประมาณจากส่วนใด การดูแลรักษาเนื้อน้ำมัน และกลไกบริหารจัดการจะเป็นอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป

“ตอนนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นทั้ง 5 แผนพลังงาน ซึ่งทั้ง 5 แผน จะยึดหลักใน 3 ด้าน คือ ดูแลสิ่งแวดล้อม ราคาเป็นธรรม และต้องเกิดความมั่นคง เพื่อนำไปสู้การสร้างสมดุลและเกิดความยั่งยืนในอนาคต”

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ระบุว่า ภาพรวมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ฉบับนี้ คาดว่า ในมิติเศรษฐกิจ จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 113,901 ล้านบาท สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลกว่า 71,000 ล้านบาท/ปี และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันดิบ    ได้ 59,000 ล้านบาท/ปี ส่วนทางด้านมิติสังคมนั้น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 41,500 ล้านบาท/ปี และในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7.1 mtCO2 เทียบเท่า/ปี เทียบเท่าการปลูกป่าโกงกางขนาด 2.6 ล้านไร่/ปี

“ร่าง แผน Oil Plan 2024 กำหนดส่งเสริมการใช้ ดีเซล(B7) เป็นน้ำมันหลักในกลุ่มดีเซล ส่วนกลุ่มเบนซิน จะเป็นการส่งเสริมการใช้ แก๊สโซฮอล์(E10) หรือ E20 ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป”

ทั้งนี้ หลังจากเปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 แล้ว ทางกรมธุรกิจพลังงาน จะรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นฉบับสมบูรณ์ จากนั้นกระทรวงพลังงาน จะเข้าสู่ขั้นตอนของการรวมเป็นแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเห็นชอบสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป