“สุริยะ” เล็งเสนอขยายสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ แลกกับไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทาง

ผู้ชมทั้งหมด 434 

สุริยะ” ต่อสายตรงถึงผู้บริหาร DMT ขอไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ แลกกับขยายสัญญาสัมปทาน หลังสิ้นสุดสัญญาในปี 77 ยันไม่ได้เอื้อประโยชน์เอกชน พร้อมสั่งกรมทางหลวงเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทลล์เวย์ ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางทางด่วนโทลล์เวย์นั้น เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ตนได้ต่อสายตรงถึง นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ DMT ได้หารือเรื่องแนวทางการลดค่าผ่านทางทางด่วนโทล์ลเวย์ เนื่องจากประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในเวลานี้จากค่าครองชีพสูง ซึ่งตนได้เสนอแนวทางไปคล้ายกับกรณีของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ได้ไปเจรจาบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ลดราคาค่าผ่านทางเหลือไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย แลกกับการขยายสัญญาสัมปทาน จึงขอให้ดอนเมืองโทลล์เวย์ลดราคา โดยจะมีการขยายเวลาสัมปทานให้ โดยไม่ใช้วิธีชดเชยเงิยเพราะจะทำให้เป็นภาระงบประมาณรัฐ ซึ่งนายสมบัติก็ตอบรับที่จะเจรจาเรื่องนี้ ดังนั้นตนจึงได้สั่งการให้กรมทางลวง (ทล.) เป็นคู่สัญญากับดอนเมืองโทลล์เวย์ ใช้เป็นแนวทางในการเจรจาในรายละเอียดให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

“ข้อสรุปเบื้องต้นกับดอนเมืองโทลล์เวย์ คือ จะไม่มีการปรับราคาค่าผ่านทางขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.นี้แล้ว และทล.ต้องไปเจรจาตัวเลขการปรับลดที่เหมาะสมเพื่อแลกกับการขยายเวลาสัมปทาน โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการดอนเมืองโทลล์เวย์เฉลี่ย 40,000 คันต่อวัน หากมีการปรับลดราคาลงน่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือประมาณ 80,000 คันต่อวัน และดอนเมืองโทลล์เวย์ก็ยังสามารถรองรับปริมาณรถได้อยู่ ”นายสุริยะ กล่าว และว่า ตนมีนโยบายชัดเจนที่ไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับประชาชนที่ใช้ถนน แต่ขณะเดียวกันก็มีสัญญาอยู่ก็ต้องเคารพในสัญญาด้วย จึงต้องพบกันกึ่งกลาง

ต่อข้อถามว่าการปรับลดราคาแลกกับการขยายเวลาสัมปทานนั้นกลัวถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ตนไม่กลัวแบบนั้น แต่กลัวประชาชนด่ามากกว่าหากมีการปรับราคาขึ้น ส่วนการเอื้อให้ประชาชนไม่เป็นไร และสามารถอธิบายกับฝ่ายค้านได้ เพราะยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวไม่ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-บางปะอิน เพราะไม่เกี่ยวข้องกันเป็นคนละสัญญา  

สำหรับสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลเวย์ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ได้รับสัมปทานจากกรมทางหลวง ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของค่าผ่านทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จากการแก้ไขสัญญาครั้งสุดท้ายจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางอีก 2 ครั้ง คือ ในเดือน ธันวาคม 2567 และธันวาคม 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577

อนึ่ง DMT ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางทางด่วนโทล์ลเวย์ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. – 21 ธันวาคม 2572 โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง – ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง – อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท