“สุริยะ” เบรกขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลเวย์ ยันต้องการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน   

ผู้ชมทั้งหมด 193 

สุริยะ” สั่งทล.-สนข.เร่งหาทางชะลอขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลเวย์ หลังผู้รับสัมปทานเตรียมปรับขึ้น 22 ธ.ค.นี้ ยืนยันในยุคตนต้องการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน   

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทล์ลเวย์ ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางทางด่วนโทล์ลเวย์ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. – 21 ธันวาคม 2572 โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง – ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง – อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท นั้นกระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน

ดังนั้น จึงได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะเจ้าของสัมปทาน และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายของกระทรวงคมนาคม ไปเร่งพิจารณาแนวทางและความเป็นไปได้ในการชะลอการขึ้นอัตราค่าผ่านทางดังกล่าว รวมถึงอาจพิจารณาให้ลดค่าผ่านทางอีกด้วย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งการใช้ทางด่วนโทลเวย์จากดินแดงไปถึงอนุสรณ์สถาน ปัจจุบันต้องเสียค่าผ่านทางในอัตราที่สูงถึง 115 บาท หากปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาในช่วงปลายปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 130 บาท และก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จะมีการปรับขึ้นอีกครั้งเป็น 145 บาท ทั้งนี้หากได้ข้อสรุปหรือมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้ทราบในทันทีต่อไป

“ผมยืนยันว่า ในยุคที่ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ มุ่งเน้นความสำคัญและประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน และเพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยอยู่ดีกินดี มีความสุขตลอดไป”นายสุริยะกล่าว

สำหรับสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลเวย์ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ได้รับสัมปทานจากกรมทางหลวง ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของค่าผ่านทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จากการแก้ไขสัญญาครั้งสุดท้ายจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางอีก 2 ครั้ง คือ ในเดือน ธันวาคม 2567 และธันวาคม 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577