ผู้ชมทั้งหมด 871
พพ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างแผน AEDP 2024 และ ร่างแผนEEP 2024 วางเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกแตะ 36% พร้อมลดความเข้มการใช้พลังงาน 36% ในปี 2580 ตอบโจทย์เทรนด์โลกมุ่งใช้พลังงานสะอาดหนุนประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ชี้แผนฯนี้ สร้างการจ้างงานไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา เกิดมูลค่าลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ขณะที่ กำหนดใช้แก๊สโซฮอล์(E10) เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ.2567 – 2580)(AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2567 – 2580 (EEP2024)วันที่ 18 มิ.ย.2567 โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์
สำหรับสาระสำคัญของร่างแผน AEDP2024 ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตและใช้พลังงานทดแทนเพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และสอดคล้องกับกรอบแผนพลังงานชาติ(NEP) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ภายในปี 2580 วางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้า 73,286 เมกะวัตต์ การผลิตความร้อน 17,061 ktoe และการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 1,621 ktoe พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ไม่น้อยกว่า 75 ล้านตัน ในปี 2580
และที่สำคัญในแผนฯนี้ ต่างจากแผนเดิม คือ ได้เปิดกว้างส่งเสริมให้มีการพัฒนาการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(SAF) รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สิทธิประโยชน์ในการลงทุนจาก BOI และการเงินสีเขียว
สำหรับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ภายในปี 2580 วางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้า 73,286 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 38,974 เมกะวัตต์,พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 2,789 เมกะวัตต์,พลังงานลม 9,379 เมกะวัตต์,ชีวมวล 5,490 เมกะวัตต์,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 925 เมกะวัตต์,ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 757 เมกะวัตต์, ขยะชุมชน 1,142 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม 249 เมกะวัตต์, พลังน้ำขนาดเล็ก 347 เมกะวัตต์,พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,918 เมกะวัตต์,ความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์,ไฮโดรเจน ,พลังน้ำนำเข้า 10,295 เมกะวัตต์ ส่งผลให้สัดส่วนไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่อความต้องการไฟฟ้า อยู่ที่ 61%
ส่วนเป้าหมายการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้วางแผนลดชนิดน้ำมันในแต่ละกลุ่มของภาคขนส่งทางถนน โดยส่งเสริมการใช้ ดีเซล(B7) เป็นน้ำมันหลักในกลุ่มดีเซล และส่งเสริมการใช้ แก๊สโซฮอล์(E10) เป็นน้ำมันหลักในกลุ่มเบนซิน ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล เหลืออยู่ที่ 2.46 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2580 และการใช้เอทานอล เหลืออยู่ที่ 1.55 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2580 ขณะที่กำหนดเป้าหมายการใช้ SAF อยู่ที่ 1.85 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2580 และการใช้ไฮโดรเจน อยู่ที่ 1,395 ตัน ภายในปี 2580
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ระบุว่า ร่างแผน AEDP 2024 และ EEP 2024 เป็นไปตามนโยบายแผนพลังงานชาติ ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกตามศักยภาพที่มีอยู่ในประเทศด้วยเทคโนโลยีและราคาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาด
ผ่านแนวทางการขับเคลื่อน อาทิ ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยมาตรการทางภาษี ส่งเสริมการบริหารจัดการ จัดเก็บ และรวบรวมเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการแปรรูปเชื้อเพลิงทดแทนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักหรือเชื้อเพลิงร่วม ส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เป็นต้น
นายพงษ์ศักดิ์ พรหมกร ผู้อำนวยการกองวิจัย ค้นคว้าพลังงาน พพ. ระบุว่า การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ตาม AEDP 2024 จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 20,000 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) เทียบเท่ามูลค่าการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท สร้างรายได้ทางการเกษตรจากการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 41,000 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 75 Mt-CO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2565
ส่วนร่างแผน EEP 2024 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity เป็น 36% ในปี 2580 หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) คิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 Mt-CO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง พร้อมทั้งมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 ทาง พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อจัดทำร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 ที่สมบูรณ์และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ และสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทาง QR code ลงทะเบียนและช่องทางออนไลน์ของ พพ. ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ก่อนนำเสนอภาครัฐพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป