“พลังงาน” ชี้ อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในแผน PDP 2024 ยังไม่นิ่ง

ผู้ชมทั้งหมด 431 

ปลัดกระทรวงพลังงาน เผย แผน PDP 2024 ยังไม่นิ่ง รับฟังทุกภาคส่วน หวังเพิ่มพลังงานหมุนเวียน ลดคาร์บอน ปรับแผนเพิ่มโซลาร์ใหม่ จากเดิมที่จะเข้าระบบทั้งหมด 24,000 เมกะวัตต์ หลังปี 2573 มาเป็นเร่งโซลาร์ใหม่ 10,000 เมกะวัตต์แรก ให้เร็วขึ้นเป็นภายใน ปี 2573 เพื่อให้สอดคล้องเป้าหมาย NDC 40% ยันก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักสร้างความมั่งคงระบบพลังงาน ชี้ค่าไฟไม่ใช่ 3.80 บาทต่อหน่วย ระบุต้องรวมที่ต้องคืนหนี้ กฟผ. อีก30 สตางค์ต่อหน่วย

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (พีดีพี 2024) ว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานยังอยู่ในระหว่างจัดทำแผนโดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้รับฟังความคิดเห็นต่อแผนพีดีพีจากภาครัฐ และภาคเอกชน ในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน โดยในระยะต่อไปจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนก่อนที่จะนำความเห็นทั้งหมดมาพิจารณาปรับปรุงเป็นแผนพีดีพี 2024 ฉบับสมบูรณ์ และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้การจัดทำแผนพีดีพี 2024 นอกจากตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศแล้ว ยังมุ่งเน้นตอบโจทย์ในเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลกที่สนับสนุน การใช้พลังงานสะอาด ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

รวมทั้งพิจารณาถึงเป้าหมาย 40% ของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564 – 2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 – 2030 : NDC) โดยแผนพีดีพี 2024 ที่จะประกาศใช้จะกำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น เช่น เร่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่จากเดิมที่กำหนดให้เข้าระบบรวม 24,000 เมกะวัตต์หลังปี 2573 ให้เร็วขึ้น เป็นให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่เข้าระบบ 10,000 เมกะวัตต์แรกก่อนปี 2573 ส่วนที่เหลืออีก 14,000 เมกะวัตต์จะเข้าระบบหลังปี 2573 เป็นต้นไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยนอกจากสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นยังช่วยให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีราคาคงที่ไม่ผันผวน เนื่องจากไม่มีปัจจัยความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงตามตลาดโลก การเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต

นอกจากการพิจารณาปัจจัยเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แผนพีดีพี 2024 จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆได้แก่ โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ “แอลโอแอลอี” โดยมีมาตรฐานว่าไฟฟ้าจะดับได้ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หมายความว่าแม้จะส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่กระทรวงพลังงานก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าด้วย โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติยังถือว่าป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้แหล่งเชื้อเพลิงภายในประเทศจะกลับมาเป็นปกติ หลังจากแหล่งก๊าซเอราวัณสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจนกลับมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศคงที่ ไม่ผันผวนไปตามราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่มาจากการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา

“แผนพีดีพี2024 แม้จะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเนื่องจากในช่วงที่พลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เนื่องจากธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย เชื้อเพลิงที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้แนวทางนี้เช่นกันเพราะมันเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าทั้งจากก๊าซธรรมชาติและการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหมุนเวียนไปควบคู่กันไป”

นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผนพีดีพี 2024 จะอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วยนั้น ในเรื่องนี้ยังไม่สามารถที่จะสรุปอัตราค่าไฟฟ้าเช่นนั้นได้ เนื่องจากในส่วนของการคำนวณค่าไฟฟ้านั้นยังจะต้องมีการรวมหนี้ภาระค่าไฟคงค้างประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่จะทยอยคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 30 สตางค์ต่อหน่วยผ่าน Ft ด้วย จึงขอให้รอการประกาศค่าไฟฟ้าในแต่ละงวดที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้ประกาศให้ได้ทราบเป็นระยะๆ