ผู้ชมทั้งหมด 240
“สุรพงษ์” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการเปิดเดินรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงนครปฐม – ชุมพร ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ พร้อมเร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรถไฟหัวหิน ในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 เพื่อติดตามความคืบหน้าการเปิดการเดินรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ระหว่างสถานีนครปฐม – คูบัว การก่อสร้างทางคู่ สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล และเยี่ยมชมสถานีรถไฟหัวหิน โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ร่วมเดินทาง และมี นายเจร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย บรรยายสรุปปัญหาและอุปสรรคการเปิดการเดินรถทางคู่ การดัดแปลงขบวนรถไฟท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM และการเปิดให้ใช้บริการสถานีรถไฟหัวหินใหม่
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้ดำเนินนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” เพื่อมุ่งนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย มาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ ให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เป้าหมายสำคัญจะต้องทำให้ รฟท. กลับมาเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนระบบการขนส่งทางรางของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ให้ รฟท. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในเส้นทางท่องเที่ยวให้สามารถจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน และได้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศด้วย
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 รฟท. ได้เปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ระยะทาง 347.4 กิโลเมตร และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา รฟท. ได้เปิดใช้งานรถไฟทางคู่สายใต้ เพิ่มอีก 72.6 กิโลเมตร ระหว่างสถานีนครปฐม – บ้านคูบัว ระยะทาง 57 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ชุมพร ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร ทำให้ รฟท. สามารถเปิดใช้รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งด้วยระบบรถไฟทางคู่ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา สามารถเชื่อมต่อการขนส่งและเส้นทางท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศได้เป็นอย่างดี