ส่องความคืบหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย สายสีม่วงใต้

ผู้ชมทั้งหมด 196 

รฟม. อัพเดทความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย คืบหน้า 57.37% มั่นใจเปิดบริการปี 68 ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ คืบหน้า 33.82%

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสายให้มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุม และส่งมอบการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนที่รอรับบริการจากภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟม. มีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งรฟม. ได้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด โดยมีความก้าวหน้า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนี้ 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 63.81 งานระบบรถไฟฟ้าร้อยละ 44.67 และมีความก้าวหน้าในภาพรวมร้อยละ 57.37 โดยโครงการฯ มีระยะทางรวมประมาณ 3 กิโลเมตร มีจำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) ตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี 2568

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวมร้อยละ 33.82 แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 6 สัญญา ซึ่งแต่ละสัญญามีความก้าวหน้า ดังนี้ สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ มีความก้าวหน้าร้อยละ 45.38 สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้ามีความก้าวหน้าร้อยละ 40.88 สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ มีความก้าวหน้าร้อยละ 30.75 สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง มีความก้าวหน้า ร้อยละ 32.83 สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง – ครุในมีความก้าวหน้า ร้อยละ 14.88 และ สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีความก้าวหน้าร้อยละ 21.78 โดยโครงการฯ มีระยะทางรวมประมาณ 23.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี ตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2571

นอกจากนี้ รฟม. ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม โดยนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตต่ำ เข้ามาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) รูปแบบเดิม โดยเริ่มใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ก่อนเป็นโครงการแรก ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า มีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างโครงการฯ ไปแล้วกว่า 135,826.47 ตัน หรือ 24.25% เทียบเท่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 7,062.976 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ติดตามข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”