ผู้ชมทั้งหมด 309
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ในตะวันออกกลาง และแนวรบฝั่งยุโรปตะวันออกยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 10 – 14 มิ.ย. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จับตาสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ในตะวันออกกลางและแนวรบฝั่งยุโรปตะวันออกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอิสราเอลยังไม่ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงครั้งใหม่ที่เสนอโดยสหรัฐฯ ขณะที่สาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานของรัสเซียมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการที่สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้อาวุธที่สหรัฐฯ สนับสนุนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่กลุ่ม OPEC+ เตรียมที่จะทยอยปรับเพิ่มกำลังผลิตนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของอินเดียมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ช้าลง จากชัยชนะที่ต่ำกว่าคาดการณ์ของนายโมดิในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ตลาดยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงอ่อนแอ เนื่องจากดัชนีผู้จัดฝ่ายซื้อภาคการผลิตของทั้งสองอยู่ในระดับหดตัว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงน่าจับตาอย่างใกล้ชิดจากวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แถลงการณ์เกี่ยวกับข้อเสนอการหยุดยิงครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส โดยข้อตกลงดังกล่าวจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ช่วงระยะเวลาด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่นำเสนอโดยสหรัฐฯ นี้ ยังคงไม่ได้รับการตอบรับจากฝั่งของอิสราเอลโดยเฉพาะรัฐมนตรีฝ่ายขวาจัดในคณะรัฐมนตรีของนายเบนจามิน เนทันยาฮู แม้กลุ่มฮามาสจะส่งสัญญาณที่เป็นบวกต่อข้อตกลงดังกล่าว
นอกจากนี้ข้อตกลงข้างต้น คณะผู้เจรจาจากชาติต่าง ๆ อาทิ อียิปต์ อิสราเอล และสหรัฐฯ ยังคงประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อต้องการให้อิสราเอลถอนกำลังทั้งหมดออกจากเมืองราฟาห์ เพื่อที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซาได้ แต่อิสราเอลก็ยังคงปฎิเสธข้อเสนอในการเจรจานี้เช่นเดียวกัน
สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ในแนวรบฝั่งยุโรปตะวันออกยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ อนุมัติให้ยูเครนสามารถที่จะใช้อาวุธซึ่งสนับสนุนโดยสหรัฐฯ ในบริเวณเขตพื้นที่คาร์คิฟ การอนุมัติดังกล่าวของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลให้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ทางการทหารและสาธารณูปโภคด้านพลังงานในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยหากเกิดการโจมตีที่เพิ่มสูงขึ้นในดินแดนของรัสเซีย ย่อมส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น
ผลการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบและพันธมิตร (OPEC+) ยังคงกดดันตลาด แม้จะมีการขยายระยะเวลาการลดการผลิตก็ตามโดยข้อสรุปจากที่ประชุมดังนี้ 1) ขยายเวลาการลดกำลังผลิตโดยสมัครใจที่ระดับ 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรอีก 8 ชาติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ เม.ย. 66 จากสิ้นสุดปี 2567 เป็นปี 2568 2) ขยายเวลาการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 จากสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 67 เป็น ก.ย. 67 แต่ยอมให้สมาชิกเลือกแนวทางการปรับลดของตัวเองได้ 3) ปรับโควต้าการผลิตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) จะขึ้น 0.3 ล้านบาร์รเรลต่อวัน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. – ธ.ค. 68 โดยการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของ UAE จะส่งผลให้ ณ เดือน ก.ย. 68 ปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC+ จะปรับเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์รเรลต่อวัน อุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นของกลุ่ม OPEC+ ย่อมส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ
ผลการเลือกตั้งอินเดียบ่งชี้ว่า กลุ่ม National Democratic Alliance ของนายนเรนทระ โมดิ ได้คะแนนเสียง 293 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าที่เอกซิตโพล (exit poll) คาดการณ์ว่าโมดิและพรรคร่วมรัฐบาลอาจคว้าชัยชนะได้ถึงระดับ 400 ที่นั่ง โดยชัยชนะในการเลือกตั้งที่ต่ำกว่าคาด อาจส่งผลให้การบริหารประเทศของรัฐบาล รวมถึงการอนุมัติวงเงินเพื่อการใช้จ่ายภาครัฐต่างๆ เกิดปัญหาหรือมีความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินเดียรวมถึงอุปสงค์ความต้องการใช้ภายในประเทศได้
ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงน่ากังวล เนื่องจากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 48.7 ลดลงจากเดือนหน้าที่ระดับ 49.2 และถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน โดยตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว นอกจากนี้ตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/24 ซึ่งประกาศเป็นครั้งที่ 2 มีการปรับลดลงจากครั้งแรกที่ระดับ 1.6% มาอยู่ที่ระดับ 1.3% ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังคงอ่อนแอคาดจะส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ยังคงน่ากังวลเช่นเดียวกัน หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน พ.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 49.5 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 50.5 และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.4
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือน พ.ค. 67 อันได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 67 อันได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 3 – 7 มิ.ย. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 2.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 80.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากที่ประชุมโอเปกพลัสอนุญาตให้สมาชิกสามารถเลือกแนวทางการปรับลดกำลังการผลิตแบบสมัครใจตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 เป็นต้นไป แม้ว่าจะมีมติให้ขยายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันส่วนใหญ่ออกไปจนถึงปี 2568 ก็ตาม ขณะที่อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงของโลกอ่อนตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จีน และยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก โดยอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเป็นปัจจัยกดดันต่อความต้องการของผู้บริโภคและกิจกรรมทางอุตสาหกรรม ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 พ.ค. 67 เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล แตะที่ระดับ 455.9 ล้านบาร์เรล โดยปรับเพิ่มสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ก.ย. 67 มีมากถึง 69% สูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ที่ 50% หลังตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานสหรัฐฯ (JOLTS) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 8.06 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. 67 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.4 ล้านตำแหน่ง สะท้อนถึงภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน