BANPU ไตรมาส1ยังมีกำไร51ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผู้ชมทั้งหมด 1,535 

แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวหลังจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แต่ไตรมาส 1/64 BANPU ยังมีกำไร 51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หลังราคาถ่านหิน ราคาก๊าซปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานของบริษัทลูกก็มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังเดินหน้ามาตรการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ไตรมาส 1/2564 มีกำไรสุทธิ 51 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาถ่านหิน และราคาก๊าซธรรมชาติ โดยราคาถ่านหินตามดัชนีราคาถ่านหิน The Newcastle Export Index (NEX) เฉลี่ยในระดับ 87 – 90 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในระดับ 2.22 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต (Mcf) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลจากความต้องการบริโภคก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ส่วนกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 62 พันล้านลูกบาศก์ฟุต นอกจากนี้ยังรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินสกุลบาทต่อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการในการใช้พลังงานของโลก บริษัทฯยังคงสามารถมีผลการดำเนินงานในระดับที่ทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และบริษัทฯยังคงได้ดำเนินมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความผันผวนของราคาตลาดของกลุ่มสินค้า โภคภัณฑ์ด้านพลังงานในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ BANPU ยังสะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพอร์ตธุรกิจให้เป็นไปตามแผน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก บริษัทฯได้มีการตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับ สถานการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินการต่างๆ ตามแผนกลยุทธ์ ทั้งการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพการผลิต การนำเทคโนโลยี และระบบดิจิทัล หรือ Digital transformation เข้ามาผสมผสานเพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แต่ยังคงสามารถควบคุมการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยมาตรการดังกล่าวยังส่งผลให้ 3 ธุรกิจหลักของ BANPU ประกอบด้วย 1.ธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ซึ่งดำเนินธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 2.ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Energy Generation) ภายใต้บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP และ3.ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ภายใต้ Banpu NEXT นั้นสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้น สร้างกระแสเงินสด อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 1/2564 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา EBITDA รวม 274 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีปริมาณขายจำนวน 4.1 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 29 เป็นผลมาจาก ปริมาณฝนที่ตกหนักจึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในการทำเหมือง แต่ราคาขายเฉลี่ยได้ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 68.4 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่มีต้นทุนการผลิต 39 เหรียญสหรัฐต่อตัน จึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 42

ส่วนเหมืองถ่านหินในประเทศออสเตรเลียมีปริมาณการขายจำนวน 2.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 15 เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร Longwall ที่เหมือง Mandalong เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ และสภาพ ทางด้านธรณีวิทยาของเหมือง Mandalong, Springvale และ Myuna ที่ไม่เอื้ออำนวย จึงส่งผลให้มีต้นทุนที่ 81 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยในระดับ 80 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อนหน้า เหมืองถ่านหินในประเทศจีนมีส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจำนวน 17 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากความต้องการที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวและตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศจีน

ขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องมีการผลิตและจ่าย กระแสไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งชุมชนและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาในสปป.ลาวมีค่าความพร้อมจ่าย หรือ EAF ที่ร้อยละ 83 ขณะที่โรงไฟฟ้า BLCP มีค่าความพร้อมจ่ายที่ระดับร้อยละ 85

 ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในประเทศจีนอยู่ในระหว่างขั้นตอนทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งคาดว่าจะสามารถ COD ได้ในครึ่งปีหลัง ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vin Chau ระยะที่ 1 ในจังหวัดซอกจัง ประเทศเวียดนาม ได้ก่อสร้างโครงสร้างฐานของกังหันลมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีความคืบหน้าในการก่อสร้างที่ร้อยละ 57

สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานยังคงเดินหน้าในการพัฒนาผลิตภัณท์ และขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตั้งระบบโซล่าร์หลังคาให้แก่โครงการ ซัมเมอร์ ลาซา (Summer Laselle) ซึ่งเป็นโครงการสำนักงานให้เช่ารูปแบบใหม่ในคอนเซปต์ออฟฟิศแคมปัสแห่งแรกในกรุงเทพ มีการขยาย การให้บริการของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจ านวน 100 คัน ในขณะที่ธุรกิจซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นได้มีการทำสัญญาเพิ่มเติมจากลูกค้ารายใหม่ คือ สถาบัน Inter-University Research Organization ในโตเกียว จำนวน 10 กิกะวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 1 ปี