ปตท.เปิดจ่ายก๊าซฯ โครงการระบบท่อส่งก๊าซฯบนบก เส้นที่ 5

ผู้ชมทั้งหมด 273 

ปตท. เปิดการจ่ายก๊าซธรรมชาติ โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 รวม 417 กิโลเมตร ชี้ช่วยสร้างโครงข่ายพลังงานยั่งยืน

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการจ่ายก๊าซธรรมชาติ โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 ณ สถานีผสมก๊าซท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 (TP5MX) ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตามความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 เป็นการเชื่อมโยงระบบท่อก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออกไปยังภาคตะวันตก ระยะทาง 417 กิโลเมตร ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่งของประเทศ พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยมี นายกัฬชัย  เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วยผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

นายอรรถพล เปิดเผยว่า ความสำเร็จของท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 เป็นการเพิ่มศักยภาพการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้า เชื่อมต่อโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ โดยโครงการฯ พาดผ่าน 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี ระบบท่อ มีการออกแบบด้านวิศวกรรมตามมาตรฐานระดับสากล มีความสามารถการจ่ายก๊าซฯ สูงสุดประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตลอดจนมีสถานีควบคุมก๊าซฯ ระหว่างทาง จำนวน 28 สถานี ตลอดแนวท่อ

อีกทั้ง โครงการยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทำให้สามารถก่อสร้างได้เป็นผลสำเร็จ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ระยะเวลาก่อสร้างรวมประมาณ 6 ปี (2561 – 2567) โดยท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 จะเป็นพลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ตลอด 45 ปี ปตท. ยังคงภารกิจในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จัดหา และต่อยอดพลังงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยก๊าซธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง