ผู้ชมทั้งหมด 322
ปตท.สผ.ลุ้นผลประกอบการไตรมาส 2ปี 67 โตขึ้นจากไตรมาส 1 ปี67 รับปัจจัยบวกปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 40,000 บาร์เรลต่อวัน แตะ 514,000 บาร์เรล หลังแหล่งเอราวัณ(G1/61) เพิ่มกำลังผลิตอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเต็มไตรมาส ขณะที่ราคาก๊าซฯ คงที่ 5.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ลั่นปีนี้ เตรียมตัดสินใจลงทุนโครงการ CCS แหล่งอาทิตย์
นางสาวพรรณพร ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2024 PTTEP เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส2 ปีนี้ คาดว่า ในส่วนของปริมาณการขายปิโตรเลียม จะเติบโตขึ้นจากไตรมาส 1 ปี2567 ราว 40,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรืออยู่ที่ 514,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 9% ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้การเพิ่มกำลังการผลิตจากโครงการG1/61(แหล่งเอราวัณ) แตะระดับ 800 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเต็มไตรมาส ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ เฉลี่ยไตรมาส 2 จะอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
ขณะที่แนวโน้มการลงทุนของบริษัทในปี 2567 คาดการณ์ว่า ปริมาณการขายปิโตรเลียม จะอยู่ที่ 509,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยมีต้นทุนต่อหน่วย(Unit Cost) เฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 70-75%
“ปี2567 บริษัท คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 70-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นกรอบที่กว้างเนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีผันผวนระดับสูง ตามปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันยังต้องจับตาการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ที่คาดว่า อาจคงการลดระดับการผลิตไปถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบปีนี้ยังตึงตัว ขณะที่ราคาก๊าซLNG เฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 9-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีกำลังการผลิตจากแหล่งใหม่/เก่า เข้ามาเพิ่ม”
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังขับเคลื่อนการลงทุนตามแผนลงทุน 5 ปี (2567-2571) บริษัทได้จัดสรรงบประมาณรวม 32,575 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 1,083,376 ล้านบาท) โดยแผนการลงทุนปี 2567 มีงบลงทุนรวมอยู่ที่ 6,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 230,194 ล้านบาท) แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 4,316 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 147,823 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 2,405 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 82,371 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนงานหลัก ซึ่งการใช้งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ และบริษัทมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง ซึ่งมีเงินสด อยู่ที่ระดับ 5,000 ล้านดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาตัดสินใจเข้าลงทุนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย และโครงการ SK 410 B ในมาเลเซีย คาดว่า จะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) ได้ภายในปีนี้ เพื่อให้เริ่มการผลิตในปี 2571
ขณะที่โครงการยาดานา ในเมียนมา ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาฯลงในปี 2571 นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอต่อสัญญาการผลิตออกไป
รวมถึงโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการกลับเข้าพื้นที่ เพื่อไปดำเนินการก่อสร้างโครงการ และคาดว่า จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เชิงพาณิชย์ครั้งแรกได้ในช่วงปี 2571