การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของไทย Q1/67 หดตัว 2.6%

ผู้ชมทั้งหมด 465 

กรมธุรกิจพลังงาน เผย การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ของปี 2567 (ม.ค. – มี.ค.) ลดลง 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของน้ำมันเบนซินและดีเซล ขณะที่ น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 19.1% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ของปี 2567 (มกราคม – มีนาคม) อยู่ที่ 156.70 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.6 โดยน้ำมันเตามีการใช้ลดลงร้อยละ 23.1 NGV ลดลงร้อยละ 16.5 น้ำมันกลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 6.9 และน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 0.2 ขณะที่การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 และ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4

ทั้งนี้ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.71 ล้านลิตร/วัน ลดลง จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 0.2 ซึ่งปัจจัยด้านราคาอาจส่งผลกระทบให้ปริมาณการใช้มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.43 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.57 ล้านลิตร/วัน  ขณะที่ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.93 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 71.12 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.9 โดยน้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.67 ล้านลิตร/วัน 0.39 ล้านลิตร/วัน และ 0.16 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4 มาอยู่ที่ 68.91 ล้านลิตร/วัน และเมื่อพิจารณาจากช่วงเดือนที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากยังคงอยู่ในระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ทั้งนี้มาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาท จะมีผลจนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 เพื่อเป็นการลดภาระให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.70 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.1 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนของรัฐบาล เช่น นโยบายฟรีวีซ่าไทย-จีน รวมทั้งอินเดียและไต้หวันรวมระยะเวลา 6 เดือน (พฤศจิกายน 2566 – พฤษภาคม 2567) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น

การใช้ LPG เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.09 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของภาคปิโตรเคมี ร้อยละ 2.8 มาอยู่ที่ 6.92 ล้านกก./วัน ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 มาอยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.0 มาอยู่ที่ 2.02 ล้านกก./วัน และภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 1.39 มาอยู่ที่ 5.83 ล้านกก./วัน

การใช้ NGV เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.97 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.5 ทั้งนี้ ปตท. มีมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน สำหรับรถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว และเปิดให้มีการสมัครบัตรสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยสิทธิประโยชน์จะแตกต่างไปตามประเภทของรถ รวมทั้งช่วยเหลือราคาก๊าซ NGV ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยจำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 19.59 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับรถทั่วไป

ขณะที่การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,066,268 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,318 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,001,566 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 1.5 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 93,747 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 64,702 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 17.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 5,570 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 156,545 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,173 ล้านบาท/เดือน