กฟผ. จับมือสวีเดนศึกษาพลังงานชีวมวลและไฮโดรเจนมุ่งลดคาร์บอน

ผู้ชมทั้งหมด 772 

กฟผ. จับมือ การค้าสวีเดน ร่วมลงนามแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้านเชื้อเพลิงชีวมวล และระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน หวังเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission

วันนี้ (30 เมษายน 2567) นางแอนนา ฮัมมาร์เกรน (H.E. Mrs. Anna. Hammargren) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย และนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการค้าสวีเดน ณ อาคารสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า ราชอาณาจักรสวีเดนถือเป็นประเทศผู้นำในการใช้พลังงานสะอาดของโลก ทั้งเชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับการค้าสวีเดนในครั้งนี้มีระยะเวลาความร่วมมือรวมทั้งสิ้น 2 ปี เพื่อเป้าหมายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทยภายใต้กรอบการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ทั้งเชื้อเพลิงชีวมวลตั้งแต่กระบวนการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกป่าที่เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบและติดตามเพื่อพิสูจน์แหล่งที่มาของเชื้อเพลิงชีวมวลตลอดทั้งกระบวนการ และระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน

รวมถึงการสนับสนุนการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะทางวิชาการ เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ การบริหารจัดการความยืดหยุ่นในการจัดการแหล่งพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศ

นายแคสเปอร์ ปิแอร์ซินอฟสกี้ กรรมาธิการการค้าสวีเดน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงทำให้โลกต้องการแนวทางการพัฒนาพลังงานที่มีความยั่งยืนอย่างเร่งด่วน ซึ่งความร่วมมือในการสำรวจพลังงานชีวมวลผ่านหลักการจัดการป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพ และการนำศักยภาพของไฮโดรเจนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า จะช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานและโอกาสทางธุรกิจของทั้งสองประเทศ อันจะนำไปสู่การพลิกโฉมภูมิทัศน์ด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม