ผู้ชมทั้งหมด 501
“สุรพงษ์” ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน Soft Power
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายอุดม เหมาเพชร รองวิศวกรใหญ่ด้านบำรุง รักษาการแทนวิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างโยธา รฟท. สรุปรายงาน ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนราชการ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ในวันที่ 19 เมษายน 2567 ณ จุดหยุดรถถ้ำกระแซ เส้นทางท่องเที่ยวสถานีน้ำตก – ช่องเขาขาด และบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ได้มอบนโยบายแนวทางการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวและติดตามการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งในมิติการแก้ไขปัญหา อุปสรรค ข้อติดขัดต่าง ๆ และมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ดี สามารถสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมุ่งให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง
โดยกระทรวงคมนาคมช่วยในการสนับสนุนให้การเดินทางสถานที่จัดงานต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าถึงได้สะดวก โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามโครงการในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบที่หยุดรถถ้ำกระแซ ซึ่งมีถ้ำกระแซเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม เช่น ลานจอดรถ จุดพักคอย ทางเดินจุดชมวิว ความสะอาดเรียบร้อย และระบบไฟฟ้าแสงสว่างเพื่ออำนวยความสะดวก มีความปลอดภัย และดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ต้องไม่กระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
ตลอดจนการปรับปรุงการบริหารจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ ร้านค้าต้องได้มาตรฐานเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ สถานีน้ำตก – ช่องเขาขาด ระยะทาง 17 กิโลเมตร ให้แนวทางการแก้ปัญหาความเหมาะสมด้านความปลอดภัยบางจุดบนเส้นทางที่จะพัฒนา และให้กรมทางหลวงพิจารณาความเหมาะสมการจัดที่จอดรถหรือจุดอำนวยความสะดวกใกล้สถานีน้ำตกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สำหรับการพัฒนาพื้นที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควในความดูแลของ รฟท. ให้นำระบบไฟฟ้าส่องสว่างที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความสวยงาม สามารถดึงเสน่ห์ของตัวสะพานข้ามแม่น้ำแควออกมาได้อย่างตระการตาสมกับความเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดกาญจนบุรี
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดทุกด้าน โดยกำชับการจัดงานสะพานข้ามแม่น้ำแคว และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่ ต้องพัฒนาให้มีความเป็นสากล ยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวระดับโลกเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในพื้นที่ ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยการนำศักยภาพและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่มาพัฒนาต่อยอด สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
พร้อมสั่งการทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้รองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกโหมดการเดินทางเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ รองรับการเดินทางให้เพียงพอ รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และไร้ปัญหาการจราจร
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เป็นการยกระดับการให้บริการของรถไฟไทยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับการเดินทางด้วยระบบรางในอนาคตและสนับสนุนการท่องเที่ยว ช่วยเหลือให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ มุ่งหวังกระตุ้นเมืองรองสู่การท่องเที่ยวเมืองหลัก ด้วยการนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่พลักดันให้เกิดความดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเพิ่มมากยิ่งขึ้น