กทพ.เร่งศึกษาความเหมาะสมการปรับลดค่าผ่านทางแลกชดเชยขยายเวลาสัมปทาน

ผู้ชมทั้งหมด 272 

กทพ.เร่งศึกษาความเหมาะสมการปรับลดค่าผ่านทางแลกชดเชยขยายเวลาสัมปทาน ให้จบภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมไปเจราจา BEM ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน มิ.ย.67 ก่อนแก้ไขสัญญาให้จบภายในปีนี้

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ กทพ. และสำนักงานขนส่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ โดยให้หารือกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วนในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับแนวทางการปรับลดค่าผ่านทางลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยแลกกับการชดเชยด้วยการขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปจากเดิม ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอคำชี้แนะเพิ่มเติมจากนายสุริยะเกี่ยวกับอัตราค่าผ่านทางที่ควรปรับลดและระยะเวลาสัมปทานที่เหมาะสมว่าควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อเป็นแนวทางไปใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการลดราคาค่าผ่านทาง ซึ่งกทพ.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาเรื่องนี้แล้ว คาดว่าจะสามารถสรุปผลให้แล้วเสร็จได้ใน 2 สัปดาห์ จากนั้นกทพ.จะนำข้อสรุปทั้งหมดไปเจราจากับ BEM ให้ได้ข้อยุติภายใน 2 เดือนหรือประมาณเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

“ที่ผ่านมา กทพ.เคยเจรจาเบื้องต้นกับ BEM ไว้แล้วเรื่องโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double deck) ช่วงงามวงศ์วาน – พญาไท – พระราม 9 ที่จะให้ BEM เป็นผู้ดำเนินการลงทุนก่อสร้าง วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท แลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี แต่เวลานี้มีโจทย์ใหม่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องการให้ปรับลดค่าผ่านทาง เพื่อช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งถือเป็นเงือนไขใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ดังนั้น กทพ.ก็จะไปเจรจากับ BEM โดยเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการปรับลดค่าผ่านทางเข้าไปด้วยแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทาน แต่จะขยายออกไปกี่ปีต้องรอผลศึกษาความเป็นไปได้ก่อน และหากผลการเจราจาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็จะนำไปสู่การปรับแก้ไขสัญญาสัมปทาน ซึ่งทุกอย่างต้องจบภายในปีนี้” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า การปรับลดราคาค่าผ่านทางที่จะดำเนินการได้นั้น จะเป็นสายทางที่ BEM บริหารอยู่ 3 สายทาง ระยะทางรวม 38.5 กิโลเมตร(กม.) ได้แก่ 1.ทางพิเศษศรีรัช  (ทางด่วนขั้นที่ 2)  ส่วนเอบี (ประชาชื่น-พญาไท-บางโคล่-อโศก) ส่วนซี (ประชาชื่น-แจ้งวัฒนะ) และส่วนดี (พระราม 9-ศรีนครินทร์) 2.ทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร)  และ 3.ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)