ผู้ชมทั้งหมด 987
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3″ เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ซึ่งจะทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี
ล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) นำโดย นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท.ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการก่อสร้างเมืองการบิน ณ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเช็กความพร้อมเมืองการบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เวลานี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภายังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง เนื่องจากติดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ต้องมีการก่อสร้างสถานี และอุโมงค์ลอดใต้รันเวย์ หากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังล้าช้าอยู่ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอย่างแน่นอน
ทั้งการติดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) หรือการบินทดสอบ รวมถึงการตรวจสอบมาตรฐานด้านต่างๆของกพท. ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้หากไม่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็จะทำให้ศักยภาพการเข้าถึงสนามบินทั้ง 3 แห่งด้อยลงไปอย่างมหาศาล ดังนั้นเชื่อว่าในที่สุดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งหาทางออกอย่างดีที่สุด เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ตามแผนที่กำหนดไว้
นาวาเอกรตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า ขณะนี้กองทัพเรือได้เปิดประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ความยาว 3,505 เมตร กว้าง 60 เมตร วงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาทไปแล้ว โดยมีเอกชนให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองประมูลประมาณ 30 ราย และมีกำหนดให้ยื่นข้อเสนอเข้ามาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 คาดว่าจะได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลภายในปี 2567 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ช่วงปี 2571
นาวาเอกรตน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภาส่วนที่ใช้อยู่ ประกอบด้วย ทางวิ่งที่ 1 มีขนาดมาตรฐานยาว 3,500 เมตร กว้าง 60 เมตร สามารถรองรับอากาศยานได้ 52 หลุมจอด (หากใช้ทางวิ่งได้เต็มศักยภาพ จะรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี) อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 รองรับผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศ ประมาณ 7 แสนคนต่อปี และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (หากเปิดใช้บริการ) จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร ได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ในปี 2566 มีผู้โดยสารประมาณ 4 แสนคนต่อปี และปี 2567 คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนคน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 20%
ด้าน นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กล่าวว่า UTA มีความพร้อมในการก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน รอเพียงความชัดเจนของแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้อง คาดว่าเรื่องโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินน่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ของ ปี 2567 และน่าจะได้หนังสืออนุญาตให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ช่วงปลายปี 2567 จากนั้นคงต้องเร่งมือการก่อสร้างเพื่อให้จบและเปิดให้บริการได้ในปี 71
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ได้รับสัมปทานมา 3 ปี บนพื้นที่ 6,500 ไร่ บริษัทฯยังไม่ได้หยุดการทำงานเลย โดยมีการพัฒนาแบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เงินไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังได้เตรียมพื้นที่ในบางส่วนต่างๆไปแล้ว รวมถึงเดินหน้าหานักลงทุน และหาพันธมิตรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามาร่วมลงทุน เพราะโครงการนี้มีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยว เชิงคุณภาพที่เป็นความตั้งใจของประเทศ ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปีในเฟสที่1 และ 60 ล้านคนต่อปีในเฟสสุดท้าย ที่สำคัญจาการประเมินไว้อย่างน้อยจะเกิดการจ้างงานที่เป็นแรงงานเชิงคุณภาพกว่า 40,000 อัตราด้วย
หากจะมองถึงความชัดเจนของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกก็เริ่มเห็นภาพความพร้อมในด้านต่างๆแล้ว ทั้งระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ท่อน้ำมัน และระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) เพื่อรองรับการใช้งานของท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งน่าจะอีกไม่นานที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชียในอนาคต