SPCG มั่นใจผลการดำเนินงานปี67 ยังทำกำไร

ผู้ชมทั้งหมด 674 

SPCG คาดปี 2567 ผลประกอบการยังเป็นบวก หลังโซลาร์ฟาร์ม ทยอยหมด Adder ลั่นเร่งปั๊มรายได้โซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม ตั้งเป้าปีนี้แตะ 1,200-1,500 ล้านบาท เน้นตลาดลูกค้าอุตสาหกรรม พร้อมผลักดันโครงการโซลาร์อีอีซี 500 เมกะวัตต์ ชี้ ล่าช้าเหตุรอใบอนุญาตจากทางภาครัฐ

นายพิพัฒน์ วิริยธรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยในงาน Oppday year-end 2023 SPCG เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2567 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2567 คาดว่ากำไรอาจปรับตัวลดลงบ้าง เนื่องจากในปีนี้ มีโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่ได้รับเงินสนับสนุน Adder จะสิ้นสุดลงอีก 13 โครงการ และในปี 2568 จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น หลังจากหมด Adder ครบทั้ง 36 โครงการ อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทจะมีรายได้จากบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR ผู้นำด้านการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Power Roof System) เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้ารายได้จากโซลาร์รูฟท็อป ไว้ที่ 1,200-1,500 ล้านบาท จากการเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นการขยายการลงทุนออกไปยังเมืองที่ไกลขึ้น เช่น โซนภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก เป็นต้น จึงเชื่อมั่นว่าปีนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังเป็นกำไรแน่นอน

“ส่วนการขยายการเติบโตของบริษัทในอนาคต ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งทางบอร์ดบริหารกำลังให้ทีมระดมความคิดกันอยู่ ถ้ามีความคืบหน้าแล้วจะรายงานให้นักลงทุนรับทราบต่อไป”

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมโดยได้จัดซื้อที่ดินแล้ว 3,000 ไร่ กระจายในพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งในส่วนนี้ถือว่ามีความพร้อม 100% แล้ว แต่โครงการยังติดขัดเรื่องการขอเอกสารใบอนุญาตต่างๆจากภาครัฐ ซึ่งผู้บริหาร SPCG พยายามผลักดันโครงการอย่างเต็มที โดยขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะเดิมดำเนินโครงการได้เมื่อไหร่

ทั้งนี้ หากมีความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตแล้ว บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างติดตั้งโซลาร์ฯ เฟสแรก 300 เมกะวัตต์ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ส่วนเฟสถัดไปอีก 200 เมกะวัตต์ จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน ดังนั้นทั้งโครงการ 500 เมกะวัตต์จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 2 ปี หลังจากนั้นจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามา

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า โครงการโซลาร์อีอีซี ไม่ได้บรรจุอยู่ในแผน PDP ฉบับใหม่ของกระทรวงพลังงานนั้น การจัดทำแผน PDP ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเดิมโครงการโซลาร์อีอีซี เป็นโครงการที่ทางภาครัฐริเริ่มขึ้นมา เพื่อผลักดันให้เกิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการลงทุน ซึ่งบริษัทได้ลงนามสัญญาร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แล้ว ในอัตราราคาขายส่งเฉลี่ยที่ กฟผ. ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย