“สุริยะ” เช็กความคืบหน้าพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวง เร่งผลักดันไทยเป็นฮับการบินของภูมิภาค

ผู้ชมทั้งหมด 2,292 

“สุริยะ” ลงพื้นที่เช็กความคืบหน้าการพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โครงข่ายถนนสนับสนุนการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ก่อนประชุม ครม. สัญจร หวังเร่งผลักดันไทยเป็น ศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ จังหวัดพะเยา โดยมีหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 18 มีนาคม 2567 ณ ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จังหวัดเชียงราย

นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ติดตามประเด็นการเตรียมความพร้อมและการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ตามนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงฯ มีโครงการที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยาน ประกอบด้วย 1) งานก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือและปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B 2) งานจ้างก่อสร้างพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21

3) โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance ,Repair and overhaul (MRO) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 4) งานจ้างก่อสร้างขยายถนนทางเข้า – ออก ท่าอากาศยานฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนมิถุนายน 2567

นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานฯ ระยะที่ 1 (ปี 2568 – 2571) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร เป็น 6 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 2 (ปี 2576 – 2578) เป็น 8 ล้านคนต่อปี โดยมีแผนงานสำคัญ ได้แก่ งานก่อสร้างเพิ่มลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และงานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น

สำหรับโครงการสนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อบรรเทาการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานและสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย การก่อสร้างทางลอดและปรับปรุงถนนบริเวณแยกศูนย์ราชการบนถนนสาย ชร.1023 อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 1.635 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 850 ล้านบาท มีแผนก่อสร้างระหว่างปี 2567 – 2569, การก่อสร้างถนนสายแยก ทล.1 – สาย ชร.5023 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.014 กม. วงเงินก่อสร้าง 200 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568  

การก่อสร้างถนนสาย ค2, จ7, ง4 ผังเมืองรวมเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.735 กม. วงเงินก่อสร้าง 250 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568, การก่อสร้างถนนสายเชื่อม ทล.1207 – ถนนเลี่ยงเมืองกรมทางหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 2.356 กม. วงเงิน 84 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568, และการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ชร.1023 กับ ทล.1 อ.เมือง จ.เชียงราย วงเงินก่อสร้าง409.560  ล้านบาท มีแผนเสนอขอรับงบประมาณค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2569

นอกจากนี้ ในการประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 1020 ตอนบ้านหัวดอย – บ้านใหม่ดอยลาน จ.เชียงราย กม. 7+420 – 30+000 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว และสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก ปลอดภัยยิ่งขึ้น และยังเป็นการสนับสนับการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อด่านพรมแดนอีกด้วย รวมทั้งกระทรวงคมนาคมมีการดำเนินโครงการปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ในการประชุมได้รับทราบข้อมูลความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในส่วนของการก่อสร้างจุดกลับรถบริเวณหน้าโรงพยาบาลแม่จัน และสะพานลอยคนข้าม เพื่อความสะดวกปลอดภัยของประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตนได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาขอใช้งบกลางในการก่อสร้างอย่างเหมาะสม

รวมทั้งได้มอบนโยบายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท บูรณาการร่วมกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลโครงข่ายถนนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยาที่ต้องปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง และตรวจสอบจุดตัดทางร่วม ทางแยกเพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม และพร้อมรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจากการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้น