ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวนระดับสูง เหตุขัดแย้งตะวันออกกลางยังตึงเครียด

ผู้ชมทั้งหมด 860 

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวนระดับสูง เหตุความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังตึงเครียด คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11 – 15 มี.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง หลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวอาจล้มเหลว ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวหลังกลุ่ม OPEC+ตัดสินใจขยายการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจนถึงไตรมาสที่ 2 ของ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

▪ สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากท่าทีของอิสราเอลและกลุ่มฮามาสต่อข้อตกลงการหยุดยิงยังคงไม่ตรงกัน โดยความต้องการของอิสราเอลคือการช่วยเหลือตัวประกันและนำความช่วยเหลือทางด้านมนุษธรรมเข้าไปตามคำเรียกร้องของนานาชาติ ขณะที่ท่าทีของกลุ่มฮามาสนั้น มีจุดประสงค์ที่จะให้อิสราเอลยุติการโจมตีทั้งหมด อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในภูมิภาคที่มีความตึงเครียดขึ้น ขณะนี้ยังคงส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบในวงจำกัด เนื่องจากชาติในตะวันออกกลางซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ยังคงไม่ได้เข้าร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้เพิ่มเติม

▪ สถานการณ์ในทะเลแดงยังคงมีก็มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเช่นกันเนื่องจากเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอังกฤษได้จมลงในทะเลแดงซึ่งเรือดังกล่าวถือเป็นเรือลำแรกที่จมลงนับตั้งแต่ความขัดแย้งเกิดขึ้นดือน พ.ย. 66 นอกจากนี้กองบัญชาการกลางของสหรัฐฯ แถลงการณ์ว่าเรือเดินสมุทรลำหนึ่งถูกกลุ่มกบฎฮูติโจมตี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการโจมตีในบริเวณดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

▪ อุปทานน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มตึงตัวภายหลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) มีมติขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงไตรมาสที่ 2/67 โดยซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน มิ.ย. 67 ขณะที่รัสเซียจะลดปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 0.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน

▪ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้ที่ระดับ 5.0% โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญปัจจัยต่างๆ อาทิ วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาภาวะเงินฝืดหลังอัตราเงินเฟ้อของจีนหดตัวมานับตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 โดยหากเศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ในระดับเป้าหมาย ย่อมส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาได้แก่ การออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษรายปี ควบคู่กับการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น

▪ ศาลสูงของสหรัฐฯ มีคำพิพากษาว่า รัฐโคโลราโดและรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจแบน โดนัลด์ ทรัมป์ จากการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 หลังก่อนหน้านี้ ศาลสูงของรัฐโคโลราโดมีคำพิพากษาให้ทรัมป์ไม่สามารถลงแข่งได้ จากคำตัดสินที่ชัดเจนดังกล่าวส่งผลให้โดนัล ทรัมป์ สามารถที่จะลงสมัครและแข่งขันในทุกมลรัฐของสหรัฐฯ ได้ ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวถือเป็นชัยชนะที่สำคัญเนื่องจากก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าหากมีบางรัฐที่ทำเช่นเดียวกับรัฐโคลาราโด จะส่งผลในทางบวกกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในช่วงการเลือกตั้งปลายปีในเดือน พ.ย. 67 ซึ่งผลคะแนนล่าสุด โดนัล ทรัมป์มีคะแนนนำอยู่ 2% โดยหากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งย่อมส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบภายในประเทศปรับสูงขึ้น จากการส่งเสริมการขุดเจาะภายในประเทศ

▪ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 67 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนียอดค้าปลีก และดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรป เดือน ม.ค. 67

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4 – 8 มี.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 83.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยความต้องการใช้น้ำมันดิบเดือน ธ.ค. 66 ลดน้อยลง 10% เทียบเดือน พ.ย. 66 สู่ระดับ 3.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563  เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันเพื่อทำความร้อนในสหรัฐฯ มีความต้องการลดลง 

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้แถลงต่อสภาคองเกรสในวันที่ 6 มี.ค. ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ หากเศรษฐกิจมีการปรับตัวตามที่เฟดคาดการณ์ โดยยังไม่มีกรอบเวลาชัดเจนว่าจะปรับลดลงเมื่อใด เนื่องจากการควบคุมภาวะเงินเฟ้อนั้นยังคงไม่แน่นอน และเผชิญความเสี่ยงหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วหรือช้าเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ ได้ ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 มี.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 448.5 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล