ผู้ชมทั้งหมด 629
“บินไทย” โชว์กำไรปี 66 กว่า 2.8 หมื่นล้าน มั่นใจปี 67 รายได้เติบโตใกล้เคียงปี 62 ส่วนการจัดหาเครื่องบินใหม่เพิ่มไม่กระทบสภาพคล่องระบุมีกระแสเงินสดในมือ 6.7 หมื่นล้าน คาดออกจากแผนฟื้นฟูกิจการกลับเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 68
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ สำนักงานใหญ่ การบินไทย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวแถลงข่าวผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 บริษัทการบินไทย ฯ โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุขกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมว่า ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 161,067 ล้านบาท เป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 79.3% มีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 12.87 บาท
โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) เป็นเงิน 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน จำนวน 32,414 ล้านบาท และมี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 42,875 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัทฯ ต้องมี EBITDA จากการดำเนินงานในส่วนของการบินไทยหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานถึงผลสำเร็จการฟื้นฟูกิจการ
ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 43,142 ล้านบาท ติดลบลดลง 27,882 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด รวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 67,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,590 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวม 238,991 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% มีหนี้สินรวม 282,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 43,142 ล้านบาท ติดลบลดลง 27,882 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด รวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 67,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,590 ล้านบาทในปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิต (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.9% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 65.4% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.7% สูงกว่าปี 2565 ที่เฉลี่ยเท่ากับ 67.9% มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 13.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52.7% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 40.9% ปริมาณการขนส่งสินค้า (RFTK) สูงกว่าปีก่อน15.4% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.7%
สำหรับกระแสเงินสดในมือ (แคชโฟว์) ขณะนี้มีสะสมสูงกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดที่ยื่นไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ โดยบริษัทฯสามารถจ่ายหนี้ในส่วนของหนี้บัตรโดยสารไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมดรวม 1.3 หมื่นล้านบาทเหลือประมาณ 300 – 400 ล้านบาทเท่านั้นที่ต้องจ่ายให้จบภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ รวมถึงยังจะสามารถเริ่มต้นชำระหนี้ครบกำหนดในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทได้อีก ซึ่งมีหนี้ทั้งหมดที่ต้องชำระ 1.2 แสนล้านบาท โดยจะแบ่งการชำระเป็น 12 งวด ๆละ1 หมื่นล้านบาทเริ่มชำระงวดแรกในปี 67 ทั้งนี้มั่นใจว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูอย่างแน่นอน
นายปิยสวัสดิ์ กฃ่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ บริษัทฯจะมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (2562) เพราะภายในปีนี้จะมีเครื่องบินเข้าฝูงเพิ่มอีก 9 ลำ จาก 70 ลำเป็น 79 ลำ รวมถึงการขยายเครือข่ายเส้นทางการบินใหม่ ตลอดจนการเดินทางที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่ยังมีราคาสูงต่อเนื่อง ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจการบินที่รุนแรงมากขึ้นจากการที่สายการบินนำเครื่องบินกลับเข้ามาบินเพิ่มเติมหลังจากที่จอดไว้นาน ดังนั้นจะส่งผลให้ค่าโดยสารลดลงจากปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงอาจมีผลต่อการเดินทางของผู้โดยสารได้ ที่สำคัญอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์สหรัฐยังมีความผันผวนอยู่มาก ซึ่งยังถือเป็นประเด็นที่ยังน่าวิตกกังวลอยู่
โดยทั่วไปยังคิดว่าผลประกอบการยังอยู่ในระดับที่ใช้ได้ ทำให้เชื่อว่าภายในปลายปีนี้บริษัทฯยังสามารถดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ คือการแปลงหนี้สินเป็นทุน และยื่นไฟล์ลิ่งออกหุ้นเพิ่มทุนได้ประสบผลสำเร็จภายในปี 67 จนทำให้ทุนกลับมาเป็นบวก และในปี 68 ก็สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้และกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อีกครั้ง
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดหาเครื่องบินใหม่เพิ่มจำนวน 45 ลำนั้น จะไม่ส่งกระทบต่อแผนฟื้นฟูแน่นอนเพราะจากการพิจารณาสภาพคล่อง และสถานะทางการเงินของบริษัทฯอย่างละเอียด แล้วบริษัทฯสามารถซื้อด้วยเงินสดได้ เพราะการจัดหาเครื่องบินไม่ได้จ่ายทันที และเครื่องบินส่วนนี้จะทยอยเข้ามาเริ่มปี 2570 – 2573 นอกจากนี้การจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีซื้อเงินสด ก็ไม่แปลกเพราะสายการบินตะวันออกกลางก็ซื้อด้วยเงินสด แต่คงต้องรอผลศึกษารูปแบบการจัดหาอย่างเหมาะสมก่อน ซึ่งยังมีเวลา คาดว่าจะได้สรุปในปี 2568
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินดังกล่าว ไม่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชน เพราะบริษัทฯไม่ได้รับเงินจากภาครัฐมาสนับสนุนกิจการ แม้แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ไม่เคยได้รับเงินจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว ส่วนเงินก้อนสุดท้ายที่เคยได้รับจากรัฐบาลจำนวน 7,500 ล้านบาทก็ตั้งแต่เมื่อ 13ปีที่แล้ว ต่างจากสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในการฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะสายการบินญี่ปุ่นที่รัฐให้การช่วยเหลือเป็นเงิน2 แสนล้านบาท ขณะที่บริษัทฯ ฟื้นด้วยตัวเองจากความร่วมมือร่วมใจของพนักงานในองค์กร
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย กล่าวว่า ขอย้ำว่าการจัดหาเครื่องบินใหม่เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชน รัฐไม่มีภาระ และไม่ต้องค้ำประกัน ดังนั้นบริษัทฯอยากยืนยันว่า การจัดหาเครื่องบินไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชน และเป็นความต้องการของบริษัทฯบนพื้นฐานธุรกิจโดยแท้ อีกทั้งบริษัทฯได้ศึกษาอย่างรอบคอบ รวมถึงกระบวนการคัดเลือกและเจรจายังที่ดีที่สุดด้วย
สำหรับการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ เป็นการจองสล็อตในการผลิต โดยยังไม่ได้สรุปถึงวิธีการได้มาว่าจะดำเนินการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเช่า, เช่าเพื่อดำเนินการ หรือซื้อด้วยเงินสด ซึ่งยังมีเวลาที่จะประเมิน และบริหารสภาพคล่อง แต่ยอมรับว่าวิธีการง่ายที่สุด คือการซื้อด้วยเงินสด
ส่วนที่มาของการเลือกทำข้อตกลงจัดหาเครื่องบินในตระกูลโบอิ้ง 787 เพราะปัจจุบันการบินไทยมีอากาศยานรุ่นนี้ให้บริการอยู่ในฝูงบินแล้ว อีกทั้งตลาดทั่วโลก ปัจจุบันยังนิยมใช้อากาศยานรุ่นโบอิ้ง 787 และแอร์บัส A350 ซึ่งขณะนี้การบินไทยก็มีแอร์บัส A350 ให้บริการและกำลังจะรับมอบเพิ่ม รวมประจำฝูงบินในปีนี้ 23 ลำ ดังนั้นมองว่าการจัดหาโบอิ้ง 787 มีความเหมาะสม ตลาดทั่วโลกนิยม และยังมีความคุ้มค่า เมื่อคำนวณต้นทุนรวมทั้งค่าบำรุง และอัตราการใช้น้ำมัน
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปีนี้ จากการฟื้นตัวของการเดินทางทั่วโลก ทำให้การบินไทยมั่นในว่าสิ้นปีนี้แคชโฟว์จะสะสมมากกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ คาดว่าจะมีสูงถึง 15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี13 ล้านคน โดยในตารางการบินฤดูร้อนปี 2567 จะให้บริการเที่ยวบินสู่ 61 เส้นทางบินทั่วโลก ในเส้นทางบินยุโรปออสเตรเลีย เอเชีย พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ เพิ่มจุดบินใหม่ 4 เส้นทาง ได้แก่ ออสโล มิลาน เพิร์ท และ โคจิ เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป