ผู้ชมทั้งหมด 2,548
รัฐบาลไทย นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบิน (HUB)ในภูมิภาค ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ก็มีนโยบายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ให้ติดอันดับสนามบินที่ดีที่สุด 1 ใน 20 ของโลกให้ได้ เพราะในช่วง 20 ปีก่อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เคยติดอันดับ 7 ของสนามบินที่ดีที่สุดของโลก แต่ปัจจุบันตกมาอยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก
ดังนั้น AOT จึงมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต, และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ให้มีขีดความสามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศอย่างประสิทธิภาพ โดยการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกสบายและประทับใจมากที่สุด รวมถึงการศึกษาดูงานจากสนามบินในต่างประเทศ เพื่อนำข้อดีมาปรับใช้ในการพัฒนาสนามบินในประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ล่าสุด พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) AOT และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ AOT ได้นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเหินฟ้าไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมท่าอากาศยานนานาชาตินิวชิโตเสะ ภายใต้กิจกรรม AOT PRESS TOUR 2F024 ณ เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น
ท่าอากาศยานนานาชาตินิวชิโตเสะได้รับความนิยมที่สุดของคนญี่ปุ่น
นายกีรติ กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาตินิวชิโตเสะ (New Chitose Airport) เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น รองรับนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ ที่เดินทางมาเยือนเมืองซัปโปโร ซึ่งเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และมีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่น เทียบได้กับท่าอากาศยานภูเก็ต หรือท่าอากาศยานเชียงใหม่ในประเทศไทย ที่เป็นเมืองศูนย์กลางของการท่องเที่ยว
โดยท่าอากาศยานนานาชาตินิวชิโตเสะได้รับการโหวตจากชาวญี่ปุ่นติดกันถึง 14 ปีซ้อนให้เป็นท่าอากาศยานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคนญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานที่มีการผสมผสานการให้บริการได้อย่างลงตัว มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานของสนามบิน และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ทั้งเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ไม่ได้สร้างเพื่อมุ่งเน้นกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้บริการที่สะดวกสบายทำให้ผู้โดยสารได้มีส่วนร่วมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้ง ห้องน้ำ โรงแรม สปา และมีร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรกว่า 200 ร้าน ทำให้บรรยากาศในการเดินทางเสมือนอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือในพื้นที่ศูนย์อาหารมากกว่ารู้สึกว่าอยู่ในสนามบินตลอดเวลา
จัดโซนสไมล์โรดจัดแสดงโชว์ซอฟพาวเวอร์แอนมิเนชั่น-อาหาร
ท่าอากาศยานนานาชาตินิวชิโตเสะยังมีการนำเอาอิทธิพลทางวัฒนธรรม (ซอฟต์พาวเวอร์) ของญี่ปุ่นมาจัดโชว์ให้กับผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวได้รับความบันเทิง เพลิดเพลินใจ ในโซนถนนยิ้ม หรือสไมล์โรด (Smile Road) บริเวณทางเชื่อมระหว่างอาคารภายในประเทศ และอาคารระหว่างประเทศ ทำให้ระหว่างการรอขึ้นเครื่องบินมีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแอนนิเมชั่น ทั้งตัวการ์ตูนโดราเอมอน คิดตี้ รวมถึงนำเอาร้านรอยซ์ (Royce’) ผู้ผลิตช็อกโกแลตคุณภาพสูง และมีชื่อเสียงดังที่สุดในฮอกไกโดมาให้นักท่องเที่ยวได้เห็นและสัมผัส เพื่อจะได้อยากไปลองชิม หรือไปทดลองของจริง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่มีการนำเอาสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นมาจัดโชว์ให้กับผู้โดยสารตั้งแต่อยู่ที่สนามบิน
ดึงจุดเด่นความเย็น-ความร้อนประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ที่ท่าอากาศยานนานาชาตินิวชิโตเสะ ยังมีนวัตกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโมเดลการประหยัดพลังงาน โดยนำเอาหิมะจำนวนมากที่เมืองฮอกไกโด มากักเก็บทำความเย็นให้กับอาคารผู้โดยสาร ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าลงได้ โดยในส่วนของไทยเองก็มีจุดเด่นเรื่องความร้อน AOT จึงมีแผนทำโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยใช้พื้นที่เหนืออาคารผู้โดยสาร พื้นที่บ่อน้ำ และพื้นที่อื่นๆที่อยู่ข้างรันเวย์ ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 60 เมกกะวัตต์ โดยเป้าหมายภายใน 4 ปีให้การใช้งานอาคารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงกลางวันให้สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ทั้งหมด โดยไม่มีการซื้อไฟฟ้า
การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์นอกจากประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ 20% จากปกติที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องจ่ายค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 100 ล้านบาทก็จะลดลงเหลือประมาณปีละ 80 ล้านบาท และก้าวไปสู่การปล่อยก๊าซเรือกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2575 เพราะเข้าใจดีกว่าในอนาคตไม่เกิน 5 ปีทั้งโลกจะมีมาตรการวัดเรื่องการปล่อนคาร์บอน ซึ่งอาจไปถึงจุดที่ว่าหากสนามบินใดไม่มีมาตรการที่ดีเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สายการบินจากยุโรปหรือจากสหรัฐอเมริกา อาจเลือกไม่บินลงก็ได้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารอากาศยานต้องตระหนักและดำเนินการอย่างจริงจัง
เล็งนำร่อง “บางกอกฟู๊ดสตรีท” ที่สุวรรณภูมิ
นายกีรติ กล่าวว่า สิ่งที่มองเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานที่ท่าอากาศยานนานาชาตินิวชิโตเสะครั้งนี้ คือเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถนำมาปรับใช้กับท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT ได้ โดยเฉพาะการนำเอาร้านอาหารท้องถิ่นมาจัดโซน “ราเม็งสตรีท” 20 ร้าน เพื่อให้ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการไม่ต้องไปเดินตามหาร้านอาหาร ดังนั้นมองว่าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็สามารถต่อยอดได้ในลักษณะการดึงเอาร้านอาการดังๆ มาเปิดให้บริการเป็นโซน “บางกอกฟู๊ดสตรีท” เพื่อให้ผู้เดินทาง โดยเฉพาะชาวต่างชาติได้ลิ้มลองอาหารที่มีชื่อเสียงของไทยตั้งแต่ที่สนามบิน
สนามบินไทยความสุขและความประทับใจของนักเดินทาง
ขณะที่พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวปิดท้ายว่า ในฐานะประธานบอร์ด AOT พร้อมจะสนับสนุนทุกกิจกรรมที่ AOT นำเสนอต่อบอร์ด และจะติดตามอย่างใส่ใจ เพื่อให้ทุกเรื่องประสบผลสำเร็จด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง โดยเน้นย้ำการใช้พื้นที่ภายในสนามบินให้เป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารมากที่สุด ด้วยบริการที่เป็นกันเอง สะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐานสูง ในราคาที่เป็นธรรม มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคักเหมือนที่ท่าอาอากาศยานนานาชาติชิโตเสะ และพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข เพราะอยากก้าวไกลไปถึงจุดที่ผู้โดยสารทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้สนามบินได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข ภูมิใจและประทับใจเป็นที่สุด